มีผู้คนมากมายที่เฝ้าติดตามหาความรักที่ตนเองพึงปรารถนา และมีผู้คนมากมายที่มีความต้องการความรักจนใช้วิธีว่า ใครก็ได้ที่เข้ามาในชีวิตในจังหวะที่ตนเองเปิดรับ จะรับเป็นคู่ครองของตน แต่ถ้าหากพิจารณาให้ดีแล้ว คนที่เข้ามาในจังหวะนั้น เราใช้ความอยาก หรือารมณ์ความอยากเป็นที่ตั้งจนลืมพิจารณาความเหมาะกับเรา สุดท้ายจะนำมาสู่การเลิกล้างกันไป ดังนั้น คู่ครองที่มีความเหมาะสมกับเรานั้น จึงเรียกว่าเนื้อคู่
ตามหลักพระพุทธศาสนา ว่าด้วยเรื่องเนื้อคู่มีดังนี้
พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงเหตุปัจจัยไว้ในสมชีวิสูตรที่ 1 พระไตรปิฎก เล่มที่ 21 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 13 อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ดังนี้
“ดูกร คฤหบดีและคฤหปตานี ถ้าภรรยาและสามีทั้งสองหวังจะพบกันและกันทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพไซร้ ทั้งสองพึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน ภรรยาและสามีทั้งสองนั้น ย่อมได้พบกันและกันทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ”
อธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้
1. รักษาศีลให้เสมอกัน
บุคคลที่มีศีลเสมอกันย่อมอยู่ร่วมกันได้ในปัจจุบัน เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็สามารถไปเสวยกรรมดีร่วมกัน แต่หากฝ่ายหนึ่งทรงศีล แต่อีกฝ่ายทุศีล ฝ่ายหนึ่งย่อมไปสู่สุคติภูมิ ส่วนอีกฝ่ายต้องไปสู่อบายภูมิ โอกาสที่จะได้กลับมาพบกันนั้นยากยิ่งนัก
2. ให้ทานและยินดีในการบริจาคเสมอกัน
หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดให้ทานและบริจาค แต่อีกฝ่ายไม่ชอบใจ ก็จะเกิดความขัดแย้ง ไม่ลงรอยกัน นำไปสู่ความบาดหมาง และเอาใจออกห่างกันในที่สุด
3. ทำปัญญาให้เสมอกัน
การทำปัญญาให้เสมอกัน มีการปฏิบัติสมาธิภาวนา จะทำให้ทั้งสองมีความเข้าใจในโลกธรรมเสมอกัน มีความเข้าใจในสุขและทุกข์จากการอยู่ร่วมกัน และยอมรับกันได้
4. ตั้งจิตอธิษฐานศัทธา
อธิษฐานนั้นมีผล ทั้งอธิษฐานที่เป็นกุศลและอกุศล การอธิษฐานเป็นเหมือนการตั้งหางเสือเรือ ทำให้เรือมุ่งหน้าสู่จุดหมายที่กำหนดไว้ ในการครองคู่ก็เช่นกัน อธิษฐานจะเป็นตัวชักนำให้หญิงชายได้กลับมาพบกัน และได้ครองคู่กันได้ในที่สุด ดังเช่น อธิษฐานของสุมิตตาพราหมณี ซึ่งอธิษฐานเป็นคู่บารมีให้พระโพธิสัตว์ จากนั้นมาอีกหลายชาติ ทั้งสองก็ต้องใช้เวลาปรับศีล ทาน และปัญญา ให้มาเสมอกัน และได้เป็นคู่บารมีกันสมคำอธิษฐานนั้น
ดังนั้น ในทางเศรษฐศาสตร์ การเสมอกันจึงหมายถึงดุลยภาพของอุปสงค์และอุปทานระหว่างคน 2 คน หรือหมายความว่าคน 2 คนนั้น หากจะเป็นเนื้อคู่กันแล้วจะต้องมีการให้ (ความรักคือการให้) และการรับที่สมดุลกันตลอดเวลาทั้ง 4 มิติ หรือ 4 ตลาดของการใช้ชีวิตร่วมกัน คือ ศีล ศรัทธา จาคะ และปัญญา บทความนี้จึงขออธิบายความสมดุลของพฤติกรรม อยู่ในรูปแบบของตลาดทั้ง 4 โดยมีความต้องการของแต่ละด้านเป็นอุปสงค์ และการให้ของคู่ครองของเราเป็นอุปทาน ในทางกลับกัน การให้ของเราจะต้องไปสอดคล้องกับอุปสงค์ของคู่ครอง และการรับของเราจึงไปสอดคล้องกับอุปทานของคู่ครองด้วย ด้งนั้น การเกิดเนื้อคู่จะต้องเกิดดุลยภาพพร้อมๆ กันใน 8 ตลาด หรือเป็นตลาดคู่ คือตลาดเกี่ยวกับศีล (ของทั้ง 2 คน) ตลาดเกี่ยวกับศรัทธา (ของทั้ง 2 คน)
จากภาพเป็นการแสดงให้เห็นถึงความต้องการในการรับและการให้ของความเหมาะสมเนื้อคู่ทั้ง 4 ด้าน ทั้งฝ่ายชายและภายใหญ่ จึงทำให้เกิดเป็น 8 ตลาดในเวลาเดียวกัน เป็นตลาดที่มีความซับซ้อน สาเหตุของการเกิดตลาดคู่ เพราะคนเรามีความรัก ที่มักจะแสดงออกด้วยการให้ โดยไม่มีเงื่อนไขต่างๆ ดังที่เรามักจะได้ยินอยู่เสมอว่า ความรักที่บริสุทธิ์ คือการให้แม้กระทั่งชีวิต หรือ ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ขอเพียงได้รักก็เพียงพอแล้ว ในขณะที่โดยธรรมชาติของมนุษย์จะมีความต้องการเป็นพื้นฐาน สิ่งนี้เรียกความใคร่ หมายถึง ความต้องการได้รับและครอบครองเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า สิ่งนั้นจะอยู่กับเราตลอดเวลา ในการใช้ชีวิตคู่ จึงเป็นการผสมผสานระหว่างความรักและความใคร่เข้าด้วยกัน จึงเป็นสาเหตุของการเกิดตลาดคู่แฝด
พฤติกรรมการแลกเปลี่ยนอุปสงค์ (ความต้องการ) และอุปทาน (การให้)
ในการใช้ชีวิตคู่ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในการใช้ชีวิตและกิจกรรมร่วมกันกัน ดังนั้น รูปแบบของกิจกรรมต่างๆ ทั้งด้านศีล คือ สิ่งที่ตนเองไม่กระทำ เพราะศีลเป็นข้อห้าม จึงเป็นความต้องการที่จะไม่กระทำ หากมีคนใดคนหนึ่งทำในสิ่งที่อีกคนไม่ชอบ ไม่กระทำ จะเกิดความอึดอัด เช่น ฝ่ายชายชอบดื่มสุรา แต่อีกฝ่ายไม่ชอบดื่มเลย และรู้สึกไม่ดีต่อสุรา จะเกิดความอึดอัดเกิดขึ้น หรืออีกหนึ่งตัวอย่างคือ ฝ่ายหนึ่งชอบหยิบของเล็กๆ น้อยติดมือ โดยที่อีกฝ่ายรู้สึกผิดที่จะอยู่ในเหตุการณ์แบบนี้ เมื่อเกิดขึ้นบ่อยๆ สุดท้ายจะทะเลาะกันในที่สุด
ความศรัทธา เป็นเรื่องการนับถือสิ่งเหนือชีวิต ดังนั้น หากความเชื่อความศัทธาไม่เหมาะสมกัน ไปกันคนละทาง ทำให้เกิดกรอึดอัด เพราะความศรัทธา เป็นเรื่องที่กระตุ้นให้มนุษย์สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่เสมอ เช่น ทัชมาฮาล คือผลงานความศัทธาในคามรัก มหาวิหารนักบุญเปรโตร พุทธคยา สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานถึงความยิ่งใหญ่ของความศรัทธา เมื่อมีศัทธาที่แรงกล้า จะเกิดพลังอย่างยิ่งใหญ่ ดังนั้น การใช้ชีวิตคู่ที่สมกัน จะต้องมีพลังที่ยิ่งใหญ่ไปในทางเดียวกันสร้างสิ่งที่ทรงพลังไปด้วยกัน เกิดการรับพลังและส่งพลังหากันเป็นอีกดุลยภาพของตลาด
จาคะ เป็นเรื่องการให้ การบริจาค และการยินดีที่เหมือนกัน มนุษย์มีความต้องการเป็นผู้ให้ แต่การให้ของแต่ละคน มีรับรู้คุณค่าที่ต่างกัน ประเด็นที่สำคัญของจาคะ คือการเสียสละเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นการเสียสละเวลา การเสียสละกำลังกาย ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และในแต่ละคนเห็นคุณค่าทั้งการรับและการให้ไม่เหมือนกัน เช่น ฝ่ายชายคิดว่าเงินคือเรื่องใหญ่ จึงพยายามซื้อของราคาแพงให้ แต่ฝ่ายหญิงกลัต้องการเพียงเวลา ไม่ได้ต้องการของราคาแพง ดังนั้น การเห็นคุณค่าในการให้ของคนอื่นจึงไม่เหมือนกัน แต่การที่จะยินดีร่วมกัน จะต้องมีส่วนที่คล้ายคลึงกัน จึงสร้างความพึงพอใจ หรือความสุขร่วมกันได้
ปัญญา เป็นเรื่องทางความคิดของคน เป็นเรื่องของความสามารถในการทำความเข้าใจในแต่ละคน การที่มีปัญญาสมกันนั้น ไม่ใช่เรื่องของการศึกษา แต่เป็นเรื่องของการให้และรับ หรือการแลกเปลี่ยนทางความคิดได้เท่ากัน หากใครคนหนึ่งจะต้องคอยคิดให้อีกฝ่ายหนึ่งตลอดเวลา ในช่วงที่รักกันใหม่ๆ อาจจะยังไม่เห็นความอึดอัดคับข้องใจ ดังคำกล่าวว่า น้ำต้มผักที่ว่าขมก็ยังหวาน แต่เมื่อเวลาผ่านไป พลังงาน ความอดทนหมดไป จะรู้สึกถึงความแตกต่างกัน และเกิดความไม่สมดุลกันในที่สุด