เศรษฐกิจต้นทุนต่ำ

การต่อสู่ระหว่างเศรษฐกิจต้นทุนต่ำกับ เศรษฐกิจคุณภาพสูง จากปรากฏการณ์ในสงครามการค้าระหว่างประเทศที่สินค้าจีนได้มีการบุกหนักไปยังประเทศต่างๆในหลากหลายช่องทางโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของ e-commerce ผ่านทาง Application ชนิดต่างๆจนทำให้ยักษ์ใหญ่ E-commerce ของอเมริกายังต้องสั่นสะเทือน เหตุผลหลักๆเลยที่ประเทศจีนสามารถที่จะทำการผลิตสินค้าให้มีราคาถูกได้เพราะการบริหารต้นทุนซึ่งมีการส่งเสริมมาตั้งแต่นโยบายและการลงทุนของภาครัฐจนถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตของภาคเอกชน ตั้งแต่ระบบพื้นฐานที่แข็งแกร่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบขนส่งถนนท่าเรือมีการสร้างยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการคมนาคมขนส่งเอาไว้อย่างต่อเนื่องและมีความชัดเจนถึงเป้าหมายของการสร้างยุทธศาสตร์นั้น ประเทศจีนยังเป็นประเทศที่มีแรงงานขนาดใหญ่จนกระทั่งทำให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตจนถึงจุดต่ำสุดของต้นทุนหรือเรียกว่าการประหยัดต่อขนาดได้อย่างน่าเหลือเชื่อ ขณะเดียวกันเองยังมีการทำวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมต่างๆที่ทำให้สามารถที่จะผลิตสินค้าได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการวิจัยทางด้านอุตสาหกรรมและการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่สนับสนุนอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้นแล้วประเทศจีนเคยเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นสินค้าด้อยคุณภาพเน้นการผลิตให้ได้จำนวนมากๆซึ่งนั่นเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่ก่อให้เกิดการผลิตในระดับมหาศาลและต้นทุนที่ต่ำอย่างน่าเหลือเชื่อและส่งออกไปทั่วโลก ระบบเศรษฐกิจแบบนี้ถ้าจะกล่าวอีกชื่อหนึ่งคงเรียกได้ไม่ยากว่า ระบบเศรษฐกิจต้นทุนต่ำหรือ Low-cost economy

ซึ่งวิธีการคิดในระบบเศรษฐกิจแบบนี้จะเป็นวิธีการคิดที่มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับระบบเศรษฐกิจจากประเทศตะวันตกและญี่ปุ่นเพราะประเทศเหล่านี้จะเน้นถึงการสร้างสินค้าที่มีคุณภาพมีราคาสูงและสร้างมูลค่าเพิ่มจนทำให้สินค้าหลายๆชนิดมีราคาที่สูงมากและพยายามที่จะสร้างแบรนด์เพื่อให้สร้างความจงรักภักดีของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์นั้นๆ ซึ่งเราสามารถเรียกได้ว่า High-Quality economy

แต่ในขณะที่สินค้าจากประเทศจีนได้เดินทางไปถึง ประเทศต่างๆทั่วโลกผู้บริโภคกลับพบว่าสินค้าหลายชนิดไม่ได้จำเป็นที่จะต้องซื้อในราคาแพงและมีคุณภาพสูงเนื่องจากมีต้นทุนในการเปลี่ยนสินค้าไม่สูงมากนัก จึงเห็นว่าการที่สินค้าราคาถูกซื้อง่ายใช้ง่ายเบื่อก็ทิ้งไปเป็นทางเลือกที่ดีที่จะประหยัดเงินในกระเป๋าและสอดคล้องกับยุคที่มีอัตราเงินเฟ้อที่สูงมากทำให้หลายคนยอมลดระดับคุณภาพของสินค้าไปซื้อสินค้าราคาถูกได้

ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างอะไรกันกับประเทศต่างๆทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่เป็น SME เนื่องจากประเทศไทยได้ใช้เทคโนโลยีในการผลิตจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ประเทศไทยไม่ใช่ผู้ผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่จะสามารถพัฒนาขีดความสามารถของตัวเองได้จะเป็นแต่การนำเข้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรมต่างๆประเทศมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสินค้าที่ตัวเองต้องการผลิตและส่งออกไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก ในตลอด 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยอาศัยความได้เปรียบจากการที่มีแรงงานในราคาที่ยังไม่สูงมากและมีคุณภาพของฝีมือแรงงานที่ค่อนข้างดี

แต่เมื่อสินค้าจากจีนที่มีราคาถูกมากถูกกว่าสินค้าจากประเทศไทยไม่น้อยกว่า 3 เท่าและฝีมือแรงงานของประเทศจีนก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นเหตุให้ SME ไม่สามารถปรับตัวได้ทันแล้วหันกลับไปนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนมาจำหน่ายแต่ประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ว่าฝันร้ายก็มาถึงเมื่อประเทศจีนกลับเปิดการค้าโดยตรงผ่านระบบ e-commerce และให้สินค้าวิ่งตรงจากโรงงานสู่มือผู้บริโภคโดยที่ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางในประเทศไทยนั่นหมายความว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยจำนวนมากโดยเฉพาะธุรกิจประเภทซื้อมาขายไปโดนคู่แข่งกับยักษ์ใหญ่ทางด้าน e-commerce จากประเทศจีนทันที

แล้วเราจะทำอย่างไร แน่นอนที่สุดลูกค้าย่อมมีหลายประเภทลูกค้าประเภทที่สนใจเรื่องราคาเป็นหลักก็ย่อมพร้อมที่จะรับความเสี่ยงกับสินค้าที่มีคุณภาพต่ำและพร้อมที่จะซื้อใหม่ได้อยู่ตลอดเวลาสินค้าประเภทนี้ก็จะเป็นสินค้าที่ไม่เน้นความคงทนหรือสินค้าที่ไม่เน้นคุณภาพสูงมากเช่น เสื้อผ้า เครื่องเขียน อุปกรณ์เบ็ดเตล็ดทั่วไป จะสังเกตได้ว่าสินค้าพวกนี้จะอยู่ในร้าน 20 บาทอยู่ในทุกหัวมุมถนนของประเทศไทย
ส่วนลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังเน้นเรื่องคุณภาพ สินค้าเหล่านี้จะเป็นสินค้าที่ต้องนำไปใช้งานต่อหรือสินค้าระดับมืออาชีพที่ต้องอาศัยการมีคุณภาพของเครื่องหมายเครื่องมือหรือของวัตถุดิบหรือของเครื่องใช้ต่างๆเพื่อให้งานออกมาตามที่ต้องการ ดังนั้นธุรกิจ SME ไทยจึงต้องเข้าใจความต้องการของลูกค้าของตนเองเสียก่อนอย่าพยายามไปแข่งในเกมที่เราไม่สามารถสู้ได้ หากสินค้าจากประเทศไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพก็ต้องชัดเจนกับกลุ่มลูกค้าว่ากลุ่มลูกค้าใดที่ต้องการคุณภาพของสินค้าเพื่อเอาไปใช้งานหรือสร้างประโยชน์ มากกว่าการขายสินค้าให้เกิดความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้าอีกแล้ว

ในทางตรงกันข้ามหากลูกค้าไม่ได้สนใจเรื่องคุณภาพมากนักและสนใจเรื่องของราคานั่นหมายความว่าสินค้าจากจีนย่อมได้เปรียบสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยอยู่แล้วเราจึงมีหน้าที่ในการที่จะช่วยกันพัฒนาเทคนิคการผลิตเพื่อทำให้เกิดการลดต้นทุนรวมไปถึงการขยายขนาดของการผลิตให้มีความคุ้มค่าในการผลิตมากยิ่งขึ้นเป็นการหาจุดแข็งบางอย่างเพื่อสามารถที่จะตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ให้ได้มากที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้นการผลิตสินค้าของประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องมองถึงประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นหลัก จะต้องไม่ผลิตด้วยความเคยชินหรือผลิตด้วยกรอบแนวคิดเดิมๆ ผู้ผลิตต้องมีความพร้อมและศึกษาถึง Pain Point ของผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอเพื่อสามารถที่จะประยุกต์ และประดิษฐ์ คุณลักษณะของสินค้าให้ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ใช่เน้นแต่สินค้าที่มีแต่รูปลักษณ์สวยงามหรือการดีไซน์เท่านั้น

สงครามการค้าในครั้งนี้ยังคงต้องเดิมพันกันอีกยาวไกลจนกว่าจะมีธุรกิจใดที่ไม่สามารถทนต่อแรงกดดันในการแข่งขันได้ล้มหายตายจากออกจากกัน เวลานั้นก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวใหม่ของผู้ผลิตรายใหม่ๆเข้ามาเรื่อยๆแต่หวังว่ายังคงมีพื้นที่ให้กับผู้ผลิตและ SME ของประเทศไทยอยู่ในเวทีโลก

ทั้งนี้ก็คงต้องฝากความหวังเอาไว้ลึกๆกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยชะลอการเข้ามาของสินค้าจากประเทศจีนที่อยู่ในระบบของ ระบบเศรษฐกิจต้นทุนต่ำ และส่งเสริมประสิทธิภาพในการผลิตของประเทศไทยให้สามารถลดต้นทุนได้อย่างเป็นระบบ มีขนาดอย่างเป็นนัยยะสำคัญในระดับประเทศ รวมถึงส่งเสริมวิธีการคิดของอุตสาหกรรมให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วปรับได้เปลี่ยนได้อยู่ตลอดเวลา ไม่ยึดติดต่อความสำเร็จในอดีตที่เคยมีมาและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า หรือเรียกได้ว่าสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าได้อยู่ตลอดเวลาในทุกๆวัน

ดร.นารา กิตติเมธีกุล

SHARE THIS