Our Media

บทความที่สร้างสรรจากประสบการณ์ โดยทีมวิทยากรและคณะที่ปรึกษาของเรา

ปั้นคนเก่ง EP12 #ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายถึงเก่งจริง

คนเก่งจริง จะไม่พูดเรื่องยากๆ ให้เป็นเรื่องยาก หรือไม่พูดเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก เพราะคนที่เก่งจริง จะต้องสามารถทำความเข้าใจโครงสร้างที่ซับซ้อน และย่อย สรุป เชื่อมโยง และเปรียบเปรยให้คนอื่นสามารถเข้าใจได้โดยง่าย
เมื่อคนอื่นเข้าใจเรื่องยาก สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ
พวกเขาจะยอมทำตามที่เราต้องการ
พวกเขาจะศรัทธาในตัวเรา
พวกเขาจะได้รับการพัฒนาให้เรียนรู้เรื่องยากๆ ได้อีกเรื่องหนึ่ง
การที่เราจะทำความเข้าใจเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้นั้น ต้องคิดแบบเป็นระบบ โดยรู้จัก แยกแยะเป็นเรื่องๆ แต่ละองค์ประกอบ
รู้จักกลุ่มองค์ประกอบที่เหมือนกันเข้าด้วยกัน และต่างกันให้แยกออกจากกัน
รู้จักการเรียงลำดับการเชื่อมโยงของแต่ละเรื่องและการทำงานในการเชื่อมโยงนั้น
หาข้อเปรียบเทียบง่ายๆ ที่มีความคล้ายกันในชีวิตประจำวัน
เพียงเท่านี้ การอธิบายเรื่องยากๆ จะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น และนอกจากนั้น คนที่อธิบาย ยังสามารถสร้างความคิดและความเข้าใจใหม่กับตัวเองด้วย เพราะยิ่งอธิบายมาก สมองก็จะทำงานมากขึ้น และเรียนรู้ทำความเข้าใจกับเรื่องที่อธิบายได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
ถ้าเราอยากเก่ง ก็ลองหัดมาอธิบายเรื่องราวต่างๆ ให้คนอื่นฟังกันให้มากขึ้น เราจะเก่งขึ้น

ปั้นคนเก่ง EP11 #แค่ทำความเข้าใจก็เก่งขึ้นแล้ว

แค่ทำความเข้าใจจะเก่งขึ้นได้จริงๆ เหรอ?

แน่นอน เพราะการทำความเข้าใจคือการเปิดใจเรียนรู้สิ่งที่เป็นไป และจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา การทำความเข้าใจ ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเพิ่มความรู้ใหม่ให้กับตัวเอง

การทำความเข้าใจ เริ่มจากการทำความเข้าใจตัวเอง เข้าใจการกระทำ เข้าใจความต้องการ เข้าใจความคิด เข้าใจความรู้สึก และเริ่มไปทำความเข้าใจคนอื่น

การทำความเข้าใจเป็นการไม่รีบตัดสิน เป็นการไม่รีบด่วนสรุป

การทำความเข้าใจจะเป็นการทำให้เราเปิดโอกาสให้ตัวเองได้รับมุมมองใหม่ๆเพิ่มขึ้น เนื่องจากการไม่รีบตัดสิน

เมื่อเราตัดสินคน เราจะไม่เปิดรับอะไรแล้ว เพราะเราคิดว่ามันจบไปแล้ว และทำให้เราได้รับข้อมูลไม่ครบทุกด้านที่เกิดขึ้น

คนเก่ง จะใช้การทำความเข้าใจเป็นจุดเริ่มต้น กลั่นกรองและไตร่ตรองอย่างละเอียด คิดให้รอบคอบ เชื่อมโยงเหตุการณ์ ความคิด และความรู้สึก เป็นความรู้ใหม่ รวมกับความรู้เก่า ที่มีอยู่ พวกเขา จะบอกว่าตัวเองยังต้องเรียนรู้อีก ตัวเองยังต้องทำความเข้าใจ

และเมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจ คนที่เข้าใจ จะไม่พลาด คนที่ใส่ใจในลายละเอียดจะมีความแม่นยำมากกว่า ทั้งหมดมาจากความเข้าใจ

ความเข้าใจคือจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง เข้าใจให้ถึงแก่นกลางของสิ่งที่เกิดขึ้น

แล้วเราจะรู้ว่า เรากำลังทำอะไร คิดอะไร ไปถึงไหน และผลลัพธ์เป็นอย่างไร

#เก่งคิด #เก่งงาน #เก่งคน

#เพจปั้นคนเก่ง

ดร.นารา กิตติเมธีกุล

ปั้นคนเก่ง EP10 #สร้างแรงใจให้ตัวเอง

แรงบันดาลใจ เป็นเรื่องที่ใครก็ต้องการเพื่อใช้เป็นแรงผลักกันในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ คนที่มีแรงบันดาลใจสูง จะสามารถทำในสิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ แต่บางคนก็บอกว่าไม่มีแรงบันดาลใจ ไม่สามารถทำอะไรที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างเต็มที่ คนเก่งมักจะมีแรงบันดาลให้กับตัวเองได้เสมอ และสามารถรักษาแรงบันดาลใจให้กับตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง

แรงบันดาลใจสร้างได้ไง มาจะเล่าให้ฟัง

แรงใจมาจากความฝัน ความต้องการในอนาคตที่มีความแรง และความสุขปนกันในเวลาเดียว ดังนั้นคนที่มีแรงใจคือสภาวะในการดื่มด่ำกับความสุขที่ตัวเองคาดว่าจะไดีรับเมื่อได้ทำสิ่งนี้ หรือทำให้มันสำเร็จ

ดังนั้น การสร้างแรงใจตัวเอง ต้องสร้างภาพความสำเร็จ และผลลัพธ์จากความสำเร็จนั้น เช่น ภาพความอบอุ่นของครอบครัว ภาพความเป็นอิสระ ภาพความภาคภูมิใจ หากยังไม่สามารถมีแรงใจพอ ให้ใส่ความรู้สึกไปด้วยว่า เมื่อเราอยู่ในเหตุการณ์ของภาพความสำเร็จแล้ว เราจะรู้สึกอะไร เราได้ยินเสียงตัวเอง ได้ยินเสียงคนรอบข้าง พูดคุยกับเราว่าอย่างไร ให้เราดื่มด่ำ สร้างความรู้สึกควบคู่กับภาพนั้นต่อไป เมื่อเรารับความรู้สึกของภาพนั้นมาในตัวแล้ว ให้เก็บและรวบเอาเข้าไว้ที่หัวใจ และหาปัจจุบัน ตอนนั้นเราจะมีแรง มีพลังเต็มเปี่ยมในการสร้างพลังการทำสิ่งยากๆ ให้กับตัวเอง แต่ยังมีข้อห้ามอยู่คือ ห้ามถามว่า เมื่อไหร่จะสำเร็จ ห้ามถามว่า เมื่อไหร่จะผ่านไป เพราะคำถามเหล่านี้เป็นคำถามทำลายแรงใจ แต่ให้เราถามว่า เราจะพัฒนาตัวเองอย่างไร เพื่อให้เข้าใกล้ความสำเร็จไปเรื่อยๆ

 

#เก่งคิด #เก่งงาน #เก่งคน

#เพจปั้นคนเก่ง

ดร.นารา กิตติเมธีกุล

ปั้นคนเก่ง EP9 #สร้างความจำด้วยภาพในหัว

ความจำเป็นทักษะที่สำคัญของคนเก่ง เป็นส่วนที่สำคัญของการเก่งคิด เนื่องจากการคิดต้องอาศัยข้อมูลที่อยู่ในสมอง นั่นคือความจำ แต่ว่า การลบความจำเป็นหน้าที่หลักของสมอง เพราะสมองของเราไม่สามารถจำได้ทุกเรื่อง และยิ่งไปกว่านั้น ความจำที่เราใส่เข้าไปในสมอง สมองของเราจะมีการสร้างเรื่องบิดเบือนเพื่อทำให้เป็นเรื่องที่เราสนใจ
ดังนั้นการเสริมสร้างความจำที่ชัดเจนเราต้องสร้างภาพที่ชัดเจนไปด้วยเพื่อให้ภาพนั้นเก็บรายละเอียดต่างๆให้ได้มากขึ้น ลดการบิดเบือนของสมองลงให้มากที่สุด
การสร้างภาพเหมือนกับการถ่ายรูปเมื่อเราเห็นอะไรแล้วเราก็ใช้สมองของเราถ่ายรูปนั้นเก็บเอาไว้ในความทรงจำแต่ถ้าจะให้ตื่นเต้นไปกว่านั้นและสามารถจำรายละเอียดได้ก็ให้ถ่ายเป็นภาพเคลื่อนไหวหรือการถ่ายวีดีโอยิ่งจะทำให้สมองของเรานั้นสามารถจดจำเรื่องราวต่างๆได้ดียิ่งขึ้น
แล้วถ้าหากว่าเป็นระบบการคิดเราก็สามารถใช้จินตนาการในการสร้างภาพถึงความสัมพันธ์ของเรื่องราวต่างๆให้กลายเป็นเหตุการณ์หรือเป็นละครเล็กๆที่เกิดขึ้นในสมองของเราก็ได้
เทคนิคนี้ยังสามารถนำไปใช้ถึงการจดจำเรื่องของคำศัพท์และการจำตัวเลขคือให้มีภาพคำศัพท์นั้นปรากฏขึ้นในสมองในหัวของเราหรือมีภาพตัวเลขอย่างเช่นเลขโทรศัพท์แล้วก็สร้างจินตนาการขึ้นมาให้ตัวเลขต่างๆปรากฏขึ้นแล้วก็จำด้วยภาพแทนการจำแต่ตัวเลขจะสามารถจำได้เร็วและจำได้นานกว่า
การที่เราสามารถจดจำเรื่องราวต่างๆได้เท่ากับเป็นการเพิ่มข้อมูลในสมองของเราและเมื่อถึงเวลาที่จำเป็นต้องนำออกมาใช้สมองของเราก็จะสามารถดึงข้อมูลต่างๆออกมาอย่างรวดเร็ว
จึงไม่ต้องแปลกใจว่าคนเก่งคือคนที่สามารถจำข้อมูลได้มากและนำข้อมูลเหล่านั้นมาเชื่อมโยงกันได้อย่างรวดเร็ว.
เราอยากเก่งก็ต้องฝึกจำ เมื่อฝึกจำแล้วก็ต้องฝึกการใช้ข้อมูลได้อย่างรวดเร็วมีเหตุและผลเกิดประโยชน์
นี่แหละเป็นความลับของคนเก่งอีกประการหนึ่ง
การฝึกใหม่อาจจะยากแต่ถ้าทำบ่อยๆก็จะเกิดความคล่องตัว.
โดยเฉพาะการฝึกการใช้สมองจะรู้สึกว่าเหนื่อยกว่าการใช้ร่างกายเพราะว่าสมองเป็นอวัยวะที่ใช้พลังงานมากที่สุดของร่างกายของเราและความจำก็จำเป็นที่จะต้องใช้พลังงานเพื่อการประมวลผลของสมองด้วยเช่นเดียวกัน
จำด้วยภาพ จำได้นาน จำอย่างรวดเร็ว
ดร. นารา กิตติเมธีกุล

ปั้นคนเก่ง EP8 #ทำไมจินตนาการสำคัญกว่าความรู้

จิตนาการสำคัญกว่าความรู้ เป็นวลียอดฮิตจนหลายคนเข้าใจผิด และนำไปเป็นข้ออ้างที่ผิดๆ ว่าไม่จำเป็นต้องมีความรู้ก็ได้ มีแต่เพียงจินตนาการเพียงอย่างเดียว
นั่นเป็นความคิดที่ผิดโดยสิ้นเชิง เพราะการที่เราจะมีจินตนาการได้นั้น ต้องมีพื้นฐานของข้อมูลบางอย่างในสมองเสียกัน และข้อมูลที่มีประโยชน์คือความรู้
การทำงานของสมองต่อการจินตนาการคือ การนำเอาความรู้ที่มีมาต่อยอดด้วยกระบวนการ 4 แบบคือ เพิ่ม ลด บิด ผสม ความรู้หรือข้อมูลต่างๆ ที่มีเพื่อให้เกิดความคิดใหม่ โดยที่ยังไม่เกิดขึ้น สิ่งนั้นเรียกว่าจินตนาการที่เป็นความคิดสร้างสรรค์
จิตนาการสำคัญกว่าความรู้จริงๆ หรือ?
คำตอบคือจริง แต่มีข้อแม้ ข้อแม้นั้นคือ เมื่อ เรามีความรู้มากพอที่จะสร้างจินตนาการได้
คนเก่ง จะต้องเพิ่มพูนความรู้ที่มีในเรื่องที่ตัวเองสนใจและต้องการพัฒนาความเก่งของตัวเองจนถึงจุดหนึ่ง จึงใช้จินตนาการมาต่อยอกความรู้ที่ตัวเองมีเป็นการเชื่อมโยงความรู้ เป็นความเข้าใจ และในที่สุดจึงกลายเป็นความรู้ใหม่
การที่มีความรู้เพียงอย่างเดียวเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้เราเข้าใจอดีตที่เกิดขึ้น ความรู้ทั้งหมดเกิดจากการจดบันทึกเหตุการณ์ที่มีในอดีต แต่เราจะไม่สามารถทำอะไรได้เลยถ้าไม่นำอดีตมาประยุกต์กับปัจจุบัน และนำไปสู่การทำนายอนาคต
จินตนาการจึงเป็นเครื่องมือนการเชื่อมโยงความรู้ในอดีต กับสถานการณ์ปัจจุบัน และนำไปสู่การคาดการณ์เพื่อการปรับตัวในอนาคต จุดนี้แหละจึงทำให้จินตนาการสำคัญกว่าความรู้
นี่คือวิถีของคนเก่ง คือคนที่รู้ รู้ลึก รู้จริง รู้แจ่มแจ้ง จนสามารถนำไปพัฒนาเป็นความรู้ใหม่ได้ ที่สำคัญคือ นำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่จินตนาการที่ขาดความรู้ คือการเพ้อฝัน การคิดแบบไม่มีหลักการอะไร สิ่งนั้น โอกาสที่จะสร้างประโยชน์ให้กับตนเอง ให้กับสังคม เป็นไปได้ยากยิ่ง

ดร.นารา กิตติเมธีกุล

ปั้นคนเก่ง EP7 #เรียนรู้ความเก่งจากคนไม่เก่ง

เรามักจะบอกคำพูดติดปากว่า ถ้าเราอยากเป็นคนเก่ง เราต้องอยู่กับคนเก่ง เพื่อจะได้พัฒนาตัวเองให้เก่งๆ นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่บางครั้ง การที่เราอยู่กับคนไม่เก่ง เราก็สามารถทำให้ตัวเองเก่งขึ้นได้อย่างไร

สิ่งที่ทำให้เราเก่งขึ้นจากคนไม่เก่ง ทำได้ดังนี้

  • เรียนรู้วิธีการคิดของคนไม่เก่ง เพื่อเป็นตัวอย่างที่เราเอาไปพัฒนาหรือไม่ควรจะทำแบบเขา การที่เป็นคนไม่เก่ง จะเห็นได้ว่า จะมีระบบการคิดอะไรบางอย่างที่เป็นอุปสรรคในการสร้างผลลัพธ์ แล้วเราก็ทำในสิ่งที่แตกต่างหรือสิ่งที่ตรงข้ามกับเขา เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป
  • เรียนรู้วิธีการพัฒนาคนหรือส่งเสริมให้คนไม่เก่งให้เก่งขึ้น เรื่องนี้จะช่วยให้เราเก่งขึ้นได้มาก เพราะการที่เราสามารถสอนคนอื่นให้เก่งขึ้นได้ แปลว่า เราเองต้องเก่งเรื่องนั้นจริงๆ และยังต้องพัฒนาความสามารถในการถ่ายทอดความเก่งด้วยทักษะ ยิ่งถ่ายทอดมากเท่าไหร่ ยิ่งเก่งขึ้นเท่านั้น นั้นคือจุดความลับของคนเก่ง
  • เรียนรู้จากการพัฒนาทัศนคติของตนเองที่มีต่อคนไม่เก่ง คนเก่งจริง จะต้องสามารถรองรับได้ทุกสถานการณ์ โดยปกติแล้ว คนเก่งจะชอบเข้าหาคนที่เก่งกว่า และเมื่อเจอคนที่ไม่เก่ง อาจจะมีความรู้สึกทางลบเกิดขึ้นได้ เช่น รู้สึกอึดอัดรำคาญ รู้สึกดูถูกหรือยกตัวเองข่มคนอื่น ดังนั้น การที่เราเจอคนไม่เก่ง หรือเก่งน้อยกว่าเรา เป็นพื้นที่ในการสร้างทัศนคติที่ดีกับคนอื่นได้อย่างไร
  • เรียนรู้การฟังจากคนไม่เก่ง เพราะการทีเราฟังจากคนไม่เก่ง เราต้องใช้ทักษะในการเชิงลึก เพราะจะได้เข้าใจว่า แต่ละคนคิดอะไร ซึ่งในแต่ละคนย่อมมีเรื่องราวดีๆ เสมอ เราเสริมสร้างการเรียนรู้อะไรจากการได้รับฟัง ฟังเข้าไปในหัวใจของคนมากกว่าฟังเพื่อเอาเนื้อความ

หากเราเชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นโลกนี้ย่อมมีข้อดีในตัวมันเองเสมอ เราก็จะสามารถนำมาเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองได้ตลอดเวลา เปิดใจให้กว้างๆ แล้วเราจะรู้ว่า เราเรียนรู้อะไรได้อีกหลายอย่างเลย

#เก่งคิด #เก่งงาน #เก่งคน

#เพจปั้นคนเก่ง

ดร.นารา กิตติเมธีกุล

ปั้นคนเก่ง EP6 #การวางแผนผลลัพธ์

คนจำนวนมากใช้การวางแผนเป็นเครื่องมือในการสร้างผลงานหรือผลลัพธ์ของตัวเอง แต่การวางแผนเป็นเรื่องของอนาคต ที่เราเองไม่เคยรู้เลยว่าจริงๆ แล้วอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น และหากเรามองลงไปในกระบงนการของการวางแผนแล้ว เป็นการใช้ความพยายามในการกำหนดอนาคตบนความเป็นไปได้มากที่สุด

นั่นคือ เรากำลังฝืนธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลง หรือธรรมชาติของการผันแปรในอนาคต นั่นเอง แบบนี้เราไม่ควรวางแผนหรือ?

ไม่ใช่ อีกเช่นกัน เพราะถ้าเราไม่มีการวางแผน เราก็ไม่รู้อีกว่าจะทำอะไร!!!

คนเก่ง จะใช้การวางแผนเพื่อกำหนด สิ่งที่ต้องการ 2 อย่าง

อย่างแรกคือ การวางแผนการดำเนินการ

อย่างที่สองคือ การวางแผนผลงาน

การวางแผนการดำเนินการคือการกำหนดสิ่งที่ต้องทำเอาไว้ล่วงหน้า สิ่งนี้ช่วยให้ผู้ทำงานสามารถรู้ได้ว่าตัวเองต้องทำอะไรเมื่อไหร่ สิ่งที่ต้องการคือ การควบคุมสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามที่ต้องการหรือกำหนดไว้ แต่ว่า ในโลกของความเป็นจริงในยุคปัจจุบันแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา

การวางแผนผลลัพธ์ คือการกำหนดช่วงเวลาของผลลัพธ์ โดยที่ไม่ได้กำหนดการดำเนินการเอาไว้ ปล่อยให้สิ่งแวดล้อมเป็นตัวกำหนดหนดวิธีการดำเนินการ ผู้ปฏิบัติจะปรับตัวไปตามสิ่งแวดล้อมต่างๆ ให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ

คนเก่ง จะใช้วิธีการกำหนดแผนทั้ง 2 รูปแบบเอาไว้ด้วยกัน โดยการใช้แผนผลลัพธ์เป็นแผนใหญ่ และสร้างแผนย่อยด้วยแผนดำเนินการ แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา

การใช้วิธีนี้จะช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างมีทิศทางและมีรายละเอียดที่ชัดเจน คนเก่งจะไม่งงกับการทำงานของตัวเอง เพราะรู้ว่า จะต้องทำอะไรเมื่อไหร่ และรู้ว่า ทำไปเพื่ออะไร

นี่แหละ ความลับของการวางแผนแบบคนเก่ง

#เก่งคิด #เก่งงาน #เก่งคน

#เพจปั้นคนเก่ง

ดร.นารา กิตติเมธีกุล

ปั้นคนเก่ง EP5 #ความลับของคนเก่งคิด

คนคิดเก่งคือคนฉลาด หลายคนว่าแบบนั้น มันก็จริง แต่อะไรหล่ะที่ทำให้คนนั้นฉลาดกว่าคนอื่น

ความฉลาดเกินขึ้นได้หลายองค์ประกอบที่มาเกิดขึ้นร่วมกัน เช่น ความสามารถในการเชื่อมโยงเรื่องราวและความคิดเข้าด้วยกัน ความสามารถในการเรียกความทรงจำในสมองออกมาใช้งาน ความสามารถในการประมวลผลของเรื่องราวต่างๆ และนำมาตัดสินใจ แต่ทั้งหมดนี้ มีจุดร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งที่ทำให้ความสามารถถูกดึงออกมาอย่างเต็มที่ คือการตั้งคำถาม

การตั้งคำถามที่ดี หรือการตั้งคำถามที่มีความแม่นยำจะช่วยเป็นไฟส่องทางให้เกิดคำตอบที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น

เทคนิคการตั้งคำถามที่ดีคือ เราต้องมีวิธีการตั้งคำถามที่หลากหลาย ก้าวข้ามความเคยชินในการตั้งคำถามที่มักใช้คำว่า “ทำไม” การถามด้วยคำว่าทำไมเป็นการถามเพื่อหาสาเหตุของการเกิด เราใช้คำถามแบบนี้บ่อยมากเพราะเป็นการถามด้วยความอยากรู้อยากเห็น

ผิดหรือไม่ที่ถามด้วยทำไม จริงๆ ก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะถ้าเราได้รู้ที่มาของปัญหาที่เราอยากรู้ เราจะได้ไปแก้ไขที่ต้นกำเนิดของประเด็นได้

แต่ถ้าเราต้องการให้ได้ผลดีกว่านี้ เราก็แค่ ใช้คำถามที่หลากหลาย มีอะไรบ้าง ไปดูกัน

  1. อะไร เป็นการถามสถานะของปัจจุบัน
  2. อย่างไร เป็นการหาทางออกที่ต้องการไปในอนาคต
  3. เมื่อไหร่ เป็นการหาจุดเวลาของการกระทำ
  4. ใคร เป็นการหาผู้รับผิดชอบในเรื่องราวต่างๆ
  5. เพื่ออะไร เป็นการกำกับผลที่เราต้องการให้ชัดเจน และไม่หลงทาง

นอกจากนั้น รูปแบบของคำตอบที่คาดหวัง ก็สามารถตั้งคำถามเพื่อหาประเด็นใน 3 ระดับคือ

  • ถามเพื่อเข้าใจเหตุการณ์
  • ถามเพื่อนเข้าใจความคิด
  • ถามเพื่อเข้าใจความรู้สึก

ดังนั้น คนที่คิดเก่ง จะใช้คำถามที่หลากหลายเป็นเครื่องมือนำทางความคิด ให้รู้ว่า ต่อไปต้องคิดอะไร ไม่คิดวน และสะเปะสะปะ ไปเรื่อย แต่ คิดให้ตรงประเด็น มีเป้าหมาย และหลากหลาย

เมื่อใช้คำถามบ่อยๆ จะฝึกให้สมองเชื่อมโยงความสามารถได้เก่งขึ้น บ่อยขึ้น และในที่สุด จะคิดเก่งขึ้น

#เก่งคิด #เก่งงาน #เก่งคน

#เพจปั้นคนเก่ง

ดร.นารา กิตติเมธีกุล

ปั้นคนเก่ง EP4 #ขออีกนิดชีวิตจะรุ่งโรจน์

ความที่เรียกว่าเป้นคนเก่ง มีความสามารถ เขาทำตัวให้แตกต่างกันคนทั่วไปอย่างไร ความลับตรงนี้ไม่มีอะไรมาก แค่ทำให้มากกว่าคนอื่นอีกนิดในทุกๆ ด้านและตลอดเวลา หมายความว่า เวลาคนเก่งทำงาน พวกเขาจะมอง คิด และลงมือให้ได้ผลลัพธ์มากกว่าคนอื่นอีกเล็กน้อย คิดให้ละเอียดมากกว่าคนอื่นเล็กน้อย มองให้รอบด้านมากกว่าคนอื่นเล็กน้อย แต่ความเล็กน้อยนี้ เป็นความเล็กน้อยบ่อยๆ จะกลายเป็นทักษะที่สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นผลลัพธ์ขนาดใหญ่ แค่เล็กน้อยเนี่ยนะทำให้เก่งได้ คำตอบคือใช่ เพราะคนโดยทั่วไปจะมีการจำกัดขีดความสามารถของตัวเอง ด้วยความเคยชิน หรือความเชื่อต่างๆ จนทำให้ไม่มีการสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างจากคนอื่น หากเราสะสมความแตกต่างอยู่เรื่อยๆ และความแตกต่างนั้นมีประโยชน์ ตัวเราจะเกิดการเรียนรู้ และสะสมความเก่งไว้ ดังนั้น เมื่อเราสะสมความเห่งไปเรื่อยๆ แสดงว่า เกิดการพัฒนาตนเอง เก่งขึ้นๆ หากมามองให้ละเอียดอีกนิด ถ้าเราเลือกความเก่งอย่างน้อย 1 เรื่อง และสะสมความเก่งทีละนิด โดยที่ทำให้มากก่วาคนอื่นเล็กน้อย ดีกว่าคนอื่นนิดหน่อย มีคุณภาพมากกว่าคนอื่นนิดนึง แต่เพิ่มให้ตัวเองอีกนิดไปเรื่อง จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือน 1 ปี 3 ปี

คำตอบคือ เราเป็นคนเก่งมากยังไงหละ และชีวิตจะรุ่งโรจน์

#เก่งคิด #เก่งงาน #เก่งคน

#เพจปั้นคนเก่ง

ดร.นารา กิตติเมธีกุล

ปั้นคนเก่ง EP3 #หัวหน้าที่ดีเมื่อลูกน้องทำงานผิดพลาด

หัวหน้าที่ลูกน้องรัก เป็นใคร??? เป็นคำถามที่สามารถตอบได้หลายอย่าง และยิ่งถามว่าทำยังไงให้ลูกน้องรัก ยิ่งเป็นคำถามที่ตอบ 3  วันก็ไม่หมด แต่เราเริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อนเพื่อช่วยให้ลูกน้องยอมรับในตัวเรามากขึ้น คือเมื่อเวลาที่ลูกน้องทำผิดพลาด

เวลาที่คนเราทำผิดพลาดช่วงเป็นช่วงเวลาของความอ่อนแอ หรือที่ทั่วไปเรียกว่า ภาวะจิตตก เป็นภาวะที่ตัวเองรู้สึกว่าไม่มีค่า หรือด้อยค่าลง ดังนั้น การที่มีใครสักคน มาช่วยให้เข้ารู้สึกได้ว่าตัวเองมีค่ามากขึ้น ถือว่า เป็นผู้ที่สร้างบุญคุณกันเลยทีเดียว

หัวหน้างานที่เข้าใจตรงนี้ สามารถใช้ช่วงเวลาที่เลวร้ายแบบนี้เป็นโอกาสในการสร้างภาวะผู้นำได้ สิ่งที่จะได้รับกลับมาคือ การได้รับความเชื่อมั่นและเชื่อใจจากลูกน้อง ได้รับความร่วมมือ และได้รับความรู้สึกดีๆ ต่อกันและกัน

หัวหน้าที่ชาญฉลาดในการบริหารคนจะเรียนรู้ในการใช้จังหวะนี้ในการสร้างทีมและสร้างขีดความสามารถของตัวเองได้ เพราะเมื่อลูกน้องทำพลาด นั่นหมายถึงความท้าทายของการเป็นหัวหน้าคือการจัดการสภาวะวิกฤติของลูกน้องทำได้ดังนี้

1. ตั้งสติก่อนการใช้อารมณ์ ถามตัวเองเพื่อหยุดการระเบิดอารมณ์ ว่า “อ้าวเหรอ เกิดอะไรขึ้น” มันเป็นแบบนี้เอง ตรงนี้สำคัญมาก เพราะหัวหน้าที่มีอารมณ์ จะปิดกั้นการรับรู้และการสื่อสาร ไม่ฟัง  และทุกอย่างจะเกิดขึ้นในมุมมองของตัวเอง หัวหน้าเองบางครั้งยังไม่รู้เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดเลย แต่กลับตัดสินไปเรียบร้อยแล้ว นั่นก็เป็นประเด็นที่ทำให้การได้รับการยอมรับลดต่ำลงไปอีก

2. แสดงความสามารถออกมาอย่างใจเย็น สุขุม และลุ่มลึกในการแก้ปัญหาให้ลูกน้อง

3. เปิดโอกาสให้ลูกน้องทำตามวิธีการแก้ปัญหาที่เราออกแบบไว้ เพื่อให้เขาได้แก้ตัว เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กลับมา

4. ให้ลูกน้องได้สรุปความผิดพลาด การเรียนรู้แล้วแนวทางป้องกัน พร้อมทั้งให้กำลังใจในการแก้ไขข้อผิดพลาดและการปรับปรุงตัวเอง

5. เมื่อแก้ไขเสร็จแล้ว ไม่ต้องนำมาเป็นประเด็นในการต่อว่าอีก เพราะคนทำผิดก็เสียใจอยู่แล้ว ไม่ควรถูกตอกย้ำ

แค่นี้ หัวหน้าที่น่ารัก และครองใจลูกน้อง ก็เกิดแล้ว

#เก่งคิด #เก่งงาน #เก่งคน

#เพจปั้นคนเก่ง

ดร.นารา กิตติเมธีกุล

ปั้นคนเก่ง EP2 #ทำงานผิดพลาดแล้วเราควรทำยังไง

เรื่องการทำงานผิดพลาดเป็นเรื่องปกติของคนทำงาน ใครไม่เคยทำผิดแปลว่าคนนั้นไม่เคยทำงาน ใครยิ่งทำงานมาก ยิ่งมีโอกาสผิดมาก เรื่องนี้เป็นสัจจธรรมของการทำงานของทุกคน แต่ทุกคนก็ยังกลัวการทำงานผิดพลาด เพราะด้วยเหตุผลต่างๆ นานา แต่ถ้าเราทำงานพลาดแล้วเราต้องรีบแก้ไข แต่เราควรจะต้องทำอย่างไร

1. ทำความเข้าใจกับความกลัวการผิดพลาดก่อน เรากำลังกลัวอะไรหากเกิดมีความผิดพลาดขึ้นมา ตรงนี้เราต้องถามลงไปในความรู้สึกข้างในให้ลึกขึ้น เช่นเรากลับความเสียหาย แต่แท้จริงแล้วเรากลัวอะไรจากความเสียหาย ตรงนั้นจะทำให้เราเข้าใจถึงอารมณ์และความคิดของเราเองได้ชัดเจน เมื่อเราเข้าใจแล้ว จะทำให้เรามีสติมากขึ้น

2. ประเมินความเสียหายจากการมีสติและความเข้าใจของการเสียหาย เมื่อทำงานพลาด ให้เรารีบประเมินให้เร็ว การประเมินเหล่านี้จะช่วยให้เรารู้ว่า เราจะต้องทำอะไรต่อไป หรือต้องให้ใครทำ

3. ยอมรับความจริง งานพลาดคืองานพลาด หลายคนไม่ยอมรับความจริง ซึ่งมีการแสดงออกอยู่ 2 อย่างคือ ปกปิดความผิดพลาด ไม่ยอมบอกใคร และปล่อยให้มันพลาดต่อไปเรื่อยๆ หรือ รีบแก้ไขด้วยตัวเอง โดยการตื่นตระหนก จนในที่สุด มีการผิดพลาดซ้ำอีกเป็นเหตุให้กลายเป็นความผิดพลาดขนาดใหญ่ ดังนั้น รีบยอมรับความจริงให้เร็วเพื่อหยุดความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

4. หลังจากที่ยอมรับความจริงเท่ากับว่าเราเข้าใจความผิดพลาด เราก็เริ่มทำการแก้ปัญหา หรือขอให้คนช่วยแก้ปัญหา จำไว้ว่าปัญหาทุกปัญหาไม่จำเป็นต้องแก้ไขคนเดียว เราสามารถให้คนอื่นช่วยแก้ปัญหาให้เราได้ โดยเฉพาะหัวหน้าของเรา เพราะหัวหน้าโดยธรรมชาติจะมีหน้าที่แก้ปัญหาให้ลูกน้องอยู่แล้ว ในทางกลับกัน ถ้าหัวหน้าไม่รู้ปัญหาเลย นั่นแสดงว่าระบบบังคับบัญชามีปัญหา กลายเป็นปัญหาซ้อนปัญหาไปอีก

5. ลงมือรับผิดชอบต่อปัญหานั้น ตรงนี้ให้ระวังว่า การรับผิดชอบคือการดำเนินการทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ไม่ใช่ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง หรือชดเชยความเสียหายด้วยตัวเอง ทำงานพลาด ไม่จำเป็นตัวพลีชีพทุกครั้งไป แต่เราต้องรับผิดชอบ เช่น ถ้าเราพูดผิด เราก็แค่ขอโทษและพูดใหม่ หรือเริ่มต้นอธิบายใหม่ เพราะจริงๆ แล้ว คนเราพร้อมที่จะให้อภัยอยู่แล้วถ้าเราขอโทษ

6. ในการแก้ไขการผิดพลาดจริงๆ ไม่ใช่เรื่องอะไรใหญ่ แต่กรทำผิดซ้ำ ในรูปแบบเดิมๆ กลับเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้น หลังจากการแก้ปัญหาแล้ว เราต้องเรียนรู้ไม่ให้ผิดพลาดอีก ผิดครั้งแรกเป็นครู แต่ผิดครั้งต่อไป เป็นความประมาท นั้นแสดงว่า เราไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากการผิดพลาด

สรุปคือ คนเราผิดพลาดได้ ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ให้ยอมรับความจริง ตั้งใจในการทำไม่ให้ผิดพลาดอีก ด้วยวิธีการทำงานแบบใหม่ (ตรงนี้สำคัญ ทำเหมือนเดิม ก็ผิดพลาดเหมือนเดิม) สรุปการเรียรู้จากการผิดพลาด

#เราจะเก่งขึ้น

ดร.นารา กิตติเมธีกุล

ปั้นคนเก่ง EP1 #ทำงานอย่างไรให้ได้เป้า

หลายคนสงสัยว่าพวกที่ทำงานเร็ว ทำงานได้เป้าโดยดูเหมือนกับว่าไม่ได้ใช้พลังงานอะไรมากมาย เค้าทำงานกันยังไง เคล็ดลับของคนทำงานเก่งๆ คือคิดงานก่อนลงมือทำ การคิดงานสามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วนคือ:

  • คิดว่าต้องมีงานอะไรบ้างที่ต้องทำให้สมบูรณ์
  • คิดว่างานนี้ให้ใครทำถึงจะดีที่สุด
  • คิดว่างานแต่ละงานต้องติดตามเมื่อไหร่และติดตามอย่างไร

ความคิด 3 ด้านนี้เป็นความคิดพื้นฐานของเราในการทำงานให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ จุดที่สำคัญคือการที่เราจะต้องไม่พลาด และไม่กลัวในการทำงานตามความคิดที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนใดก็ตาม การพลาดในการคิดว่า จะต้องทำงานอะไรบ้างนั้นคือ: เราคิดไม่ครบว่าในการทำงานให้สำเร็จ 1  งานนั้น จะต้องมีงานย่อยๆ หรือกิจกรรมอะไรบ้างในการทำงาน อะไรเกิดก่อนเกิดหลัง และทำแต่ละงานไปเพื่ออะไร

การพลาดในการมองหมายงาน คือการไม่กล้าที่จะให้คนอื่นมาช่วยในการทำงาน หรือร้องขอให้คนอื่นมาช่วยในการทำงาน กลัวจะถูกปฏิเสธ คิดไปเอง หรือถูกปฏิเสธมาแล้ว ไม่กล้าไปขออีก กลัวจะถูกปฏิเสธซ้ำอีกครั้งหนึ่ง หรือหนักกว่านั้น ไม่รู้ว่างานนี้จะต้องให้ใครทำเราแค่รวบรวมความกล้าที่จะเข้าไปขอให้เขาทำ โดยการเสนอประโยชน์ที่เขาจะได้รับ หรือร้องขอด้วยวิธีอันชาญฉลาด เราจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้

การพลาดในการตามงาน คือ เราไม่ได้ทำงานที่ควรทำในเวลาที่กำหนด อาจจะเกิดขึ้นด้วยสาเหตุดังนี้ ขี้เกียจ ลืม เกรงใจ หรือ ยุ่งมากจนไม่มีเวลาไปตามให้สำเร็จ แต่ละเรื่องเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ คนที่ต้องการพัฒนาตัวเองในการทำงานให้ได้เป้าหมาย ต้องหัดคิด หัดมอบหมาย และหัดติดตามในรูปแบบของตัวเอง ต้องสร้างความเชื่อและความคิดของตัวเองให้ดี การทำงานให้ได้เป้าหมายต้องเริ่มจากวิธีการคิดให้ดี ไม่ใช่การลุยไปคิดไป เพราะแบบนั้นจะไม่รู้ทิศทางที่จะไป

ดร.นารา กิตติเมธีกุล

Our Podcasts and VDOs เรื่องราวดี ที่เราอยากเล่าให้ท่านฟัง