Our Media

บทความที่สร้างสรรจากประสบการณ์ โดยทีมวิทยากรและคณะที่ปรึกษาของเรา

Corporate Culture กับ Branding แท้จริงแล้วเรื่องเดียวกัน

ในช่วงที่ผ่านมา มีหลายองค์กรพยายามจะสร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นมาเพื่อให้องค์กรมีคนที่มีพฤติกรรมคล้ายๆ กันจนกลายเป็นคนที่องค์กรต้องการ และหวังผลออกไปว่าคนเหล่านี้จะสร้างลักษระขององค์กร สร้างกำไร และสร้างการเติบโตในอนาคต นับว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นการปรับตัวในสภาวะของการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ข้อมูลข่าวสาร จนกลายเป็น VUCA World โลกที่เต็มไปด้วยความผันผวน (Volatility) โลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน (Uncertainty) โลกที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน (Complexity) และโลกที่เต็มไปด้วยความคลุมเครือ (Ambiguity)

แต่หลายๆ องค์กรกลับลืมไปว่า การสร้างวัฒนธรรมองค์กรนั้น คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน ซึ่งจะต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนทั้งองค์กรให้มีพฤติกรรมที่คล้ายๆ กัน จนกลายเป็นบุคคลของคนทั้งองค์กร แต่หลายองค์กรเจอปัญหาว่า สร้างพฤติกรรมที่ต้องการไม่ได้ หรือ ทำเท่าไหร่ก็ไม่เป้นทางเดียวกัน

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจะต้องมีองค์ประกอบเพื่อการสร้างการเปลี่ยนแปลง 2 อย่างคือ

ปัจจัยกระตุ้นในระดับบุคคล หรือ แรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม พูดง่ายๆ ว่า เปลี่ยนแล้วได้อะไร มนุษย์จะมองกลับมาที่ประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ต่างอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ของตัวเอง เช่นประโยชน์ทางร่างกาย การเงิน หรือประโยชน์ทางอารมณ์ ความสุขจากการได้รับและการให้

ปัจจัยปลายทางของการเปลี่ยนแปลง หรือ เป้าหมายปลายทางหลังจากการเปลี่ยนแปลง พูดอีกมุมคือเปลี่ยนเป็นอะไรแบบที่เข้าใจง่ายๆ เพราะการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ต้องการเป้าหมายใหม่มาช่วยกำหนดขั้นตอนในการเปลี่ยนแปลง มนุษย์ทุกคนต้องการความมั่นคงความมั่นใจ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ยืดหยุ่นขนาดไหน ต่างก็ต้องกลับมาหาความมั่นคง การมีเป้าหมายที่ชัดเจน จะช่วยทำให้การเปลี่ยนแปลงมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

กลับมาที่ Branding คือบุคลิกของสินค้า บริการ และองค์กร นั้นคือสิ่งที่ผู้คนรับรู้ได้ว่าสินค้า บริการ หรือองค์กรนี้หากเปรียบเป็นคนแล้ว จะหมายถึงคนแบบไหนที่มีความโดดเด่น และชัดเจน แล้วการสร้าง Branding ก็ไม่ใช่การโฆษณาประชาสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว เพราะนั้นเป็นความพยายามในการบอก แต่การรับรู้จริงๆ แล้ว ไม่ได้มีแค่ปัจจัยในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่เป็นการแสดงออกในทุกด้าน ทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ การจัดแสดงสินค้า พนักงานทุกคน การออกแบบร้าน โดยเฉพาะตัวผู้บริหารที่ต้องแบรนด์ในตัวเองอย่างตลอดเวลาว่าเป็นคนแบบไหน ทำงานอย่างไร ส่งมอบ สื่อสาร แสดงออกอะไรให้กับคนรอบข้างอยู่ตลอดเวลา

เห็นหรือไม่ว่า Branding และ วัฒนธรรมองค์กรเป็นเรื่องเดียวกัน คือพฤติกรรมของคน ดังนั้น การสร้างวัฒนธรรมองค์กร ต้องควบคู่ไปกับการสร้าง Brand เพราะทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกัน แยกจากกันไม่ได้ และทั้ง 2 เรื่องนี้ต่างเกิดจากการกำกับ ส่งเสริม พัฒนาจากผู้บริหารทั้งสิ้น ไม่มีทางเลยที่จะปล่อยให้พนักงานระดับล่างพัฒนากันเองได้ เพราะอำนาจสุงสุด ความเป็นเจ้าของสูงสุด อยู่ที่ผู้บริหารทั้งนั้น องค์กรจะเป็นอย่างไร ผู้บริหารคือคนเลือกและพาไป

ดร.นารา กิตติเมธีกุล

การตั้ง Mindset เพื่อรับมือ VUCA World

ช่วงปี 2019 มา โลกเราได้มีการพูดถึง VUCA มาขึ้น โดยที่มานั้นมาจาก U.S Army War College แทนเหตุการที่มีความผันผวนสูงยากต่อการคาดเดา คำว่า VUCA มาจาก คำ 4 คำ คือ Volatility ความผันผัน Uncertainty ความไม่แน่นอน Complexity ความซับซ้อน และ Ambiguity ความคลุมเคลือ และก็มีหลายสำนักได้พยายามจะเสนอแนวทางการจัดการกับสถานการณ์ที่เป็นความผันผวนสูงขนาดนี้โดยเสนอว่า

Volatility เป็น Vision หรือวิสัยทัศน์

Uncertainty เป็น Understanding หรือ การทำความเข้าใจ

Complexity เป็น Clarity หรือ ความชัดเจน

Ambiguity เป็น Agile หรือ ความคล่องแคล่ว

แต่ว่า เราจะเริ่มตัวไหนก่อนดีหละ เพื่อการปรับตัวของตัวเราเองให้เข้ากับ VUCA World

ขอย้อนกลับไปสู่ประเด็นการเกิด VUCA ก่อนคือว่า โลกเรามีปริมาณข้อมูลที่ไหลไปมาอย่างท่วมท้น เพื่อใครๆ ต่างต้องการความมั่นใจในการตัดสินใจ จึงพยายามหาข้อมูลให้มากมที่สุดจนกลายเป็น Over Flow Information

ในขณะที่เทคโนโลยีการเดินทางขนส่ง ก็พัฒนามากขึ้นไปจนคนในโลกเกิดการเคลื่อนที่ไปมาหากันอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาตร์ของมนุษยชาติ จึงทำให้มีความซับซ้อน สับสนวุ่นวายมากขึ้น

มนุษย์กลับดูถาโถมด้วยสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นความเคยชิน และสะสมความวั่นวายมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ในการรับมือกับ VUCA World  ไม่ได้เริ่มจากตัวใดตัวหนึ่งใน  ตัวที่กล่าวมาแล้ว แต่กลับเริ่มจากตัวเรา

คือ เราต้องมีความ “นิ่ง” เอาตัวออกจากกระแสของ VUCA เสียก่อน จากนั้น มาตั้งความคิดของตัวเองว่า เราเชื่อหรือไม่ เรา สามารถจัดการตัวเองกับกระแสแห่ง VUCA ได้

เพื่อเมื่อจิตเรานิ่ง ต่อให้สภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร เราจะสามารถจัดการได้อย่างง่ายดายมากขึ้น แต่ถ้าจิตไหวหวั่น แม้เพียงเงาของใบไม้ก็คิดว่าเป็นสิ่งอันตรายมาทำร้ายเรา

เมื่อจิตนิ่ง ความเชื่อดี จึงมาจัดการระบบความคิด ให้มีเป้าหมายตามวิธีแบบวิสัยทัศน์ ทำความเข้าใจกับประเด็นปัญหา แยกเป็นส่วนๆ เพื่อทำทุกอย่างให้ชัดเจน ปัญหายิ่งเอาหลายๆ เรื่องมาปนกัน จะแก้ไม่ออก

สุดท้ายตั้ง Mindset ของตัวเองใหม่ ให้เราไม่ยึดติด กับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ชื่นชมกับทุกสิ่งทุกอย่าง มองเห็นคุณค่า และปรับเปลี่ยนได้ตามสถาการณ์ 

นี่แหละ คาถา Mindset เพื่อสยบ VUCA World

ดร.นารา กิตติเมธีกุล

ทำไมเราถึงคิดว่า ประชาธิปไตย จึงเป็นระบบที่ดีที่สุด

บทความบทนี้ ไม่มีเจตนาทางด้านการเมือง แต่นำเสนอเพื่อชวนให้คิด ให้เข้าใจกับตัวเอง ด้วยมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ จิตวิทยา การบริหาร

ข้อแนะนำ ช่วยวางความคิดทางการเมืองลง แล้วค่อยอ่าน เพราะอาจจะมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึก และความเชื่อของท่าน

ขบคิด ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2564

ในช่วงนี้ผมได้ติดตามข่าวเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศไทยซึ่งก็ทำให้เรามาฉุกคิดได้ว่าทำไมนะหลายคนในโลกนี้จำนวนมากที่เดียวที่เชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยคือระบอบที่ดีที่สุด?

มันเป็นคำถามที่ผมได้คิดแล้วก็อดไม่ได้ที่จะคิดต่อไปเรื่อยๆว่าจริงๆ แล้วประชาธิปไตยเป็นระบบที่ดีที่สุดตามที่เราเชื่อจริงหรือ อะไรคือจุดอ่อน อะไรคือจุดแข็งของระบบประชาธิปไตย?

ด้วยความคิดตรงนี้ผมจึงย้อนกลับไปคิดถึงเรื่องของการปกครองว่าเหตุใดเราจึงต้องมีผู้ปกครองซึ่งตอนหลังอาจจะถูกพัฒนากลายเป็นชนชั้นปกครองและกลุ่มการเมืองในปัจจุบัน ในอดีตกาลมนุษย์ก็คงจะเป็นสังคมขนาดเล็กที่ยังไม่มีรูปแบบอะไรมากมายในการอยู่ร่วมกันอย่างไม่มีกฎกติกาอะไรมากมายสนใจแต่เพียงว่าในแต่ละวันจะใช้ชีวิตอย่างไรให้อยู่รอดปลอดภัยและมีอาหารยังชีพอย่างอุดมสมบูรณ์หรือมีความมั่นคงในชีวิต หากเราได้อ่านหนังสือเรื่อง homo sapiens  เราก็จะพบว่ากฎกติกาต่างๆถูกเริ่มกำหนดขึ้นโดยการที่มนุษย์มีจินตนาการแล้วก็กำหนดโลกสมมุติเกิดขึ้นทำให้เรายึดถือกันว่าสิ่งต่างๆที่เราสมมตินั้นเป็นความจริงแท้แม้ว่าเราจะจับต้องไม่ได้เลยก็ตาม กฎเกณฑ์ต่างๆที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นกฎการอยู่ร่วมกันกฎแห่งบาปบุญคุณโทษกฎหมายกฎการปกครองการละเมิดการใช้ชีวิตร่วมกันทั้งหมดนี้ถ้าเราพิจารณาในฐานะนักชีววิทยาเราจะพบว่ามันไม่มีอยู่จริงแต่มันกลับเป็นจริงเพราะมนุษย์เชื่อในสิ่งที่ตัวเองสมมุติอย่างสุดหัวใจ

นั่นก็หมายความว่าระบบการปกครองทั้งหมดก็คือกฎที่มนุษย์สร้างขึ้นเป็นโลกสมมุติที่มนุษย์เชื่อว่าเราจะต้องยึดถือความจริงแท้ข้อนี้ แต่ถ้าหากเรามองย้อนกลับไปในมุมมองของสิ่งมีชีวิตเผ่าพันธุ์อื่นๆเราก็อาจจะพบว่าเราไม่จำเป็นต้องเชื่อในกฎเกณฑ์ที่ถูกตั้งขึ้นมาเป็นแบบนี้

กลับมาที่ต้นกำเนิดของการปกครองในยุคที่มนุษย์เริ่มมีการรวมตัวกันเป็นสังคมเล็กๆสิ่งที่มนุษย์ต้องการคือการอยู่รอด และมนุษย์มีความสามารถอย่างหนึ่งที่อยู่เหนือกว่าสัตว์ชนิดอื่นคือการให้ความร่วมมือกัน เพื่อทำให้กลุ่มของมนุษย์มีความเข้มแข็งขึ้นแม้ว่ามนุษย์จะไม่มีกล้ามเนื้อหรือความแข็งแรงเทียบเท่ากับสัตว์ชนิดอื่นก็ตามที แต่ด้วยความที่มนุษย์รวมกลุ่มกันนี้เองจึงทำให้มนุษย์สามารถเอาชนะอุปสรรคและความท้าทายของการอยู่รอดแห่งการดำรงเผ่าพันธุ์เอาไว้ได้อย่างยอดเยี่ยมจนกลายเป็นเผ่าพันธุ์มนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน

นั่นหมายความว่าโดยแท้จริงแล้วผู้ปกครองจึงมีหน้าที่ที่สำคัญที่สุดคือการสร้างความมั่นคงให้กับกลุ่มหรือสังคมของมนุษย์ที่รวมตัวกันอยู่นั่นเอง ในอดีตการที่เราจะยอมรับผู้ปกครองขึ้นมาเป็นคนที่นำพาให้กับกลุ่มเดินไปในทิศทางใดๆ ก็แล้วแต่ยอมขึ้นอยู่กับความสามารถและพละกำลังที่จะช่วยทำให้กลุ่มหรือสังคมผ่านพ้นอุปสรรคและวิกฤตินานาประการได้ สิ่งที่ต้องแลกเปลี่ยนกันระหว่างสังคมกับชนชั้นปกครองคือชนชั้นปกครองได้มอบความมั่นคง ความอยู่ดีกินดี และความปลอดภัยในชีวิตให้กับสังคม ในขณะที่สังคมได้มอบบางสิ่งบางอย่างให้กับชนชั้นปกครองเป็นการตอบแทนเช่น อำนาจ ความร่ำรวย ชื่อเสียงเกียรติยศ ตรงนี้เอกเป็นจุดเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยนระหว่างกันและกันนั่นหมายความว่า ชนชั้นปกครองมีหน้าที่อย่างหนึ่ง และสังคมก็มีหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้จึงมีการพัฒนาระบบการปกครองแบ่งเป็น 2 ชั้นคือชนชั้นปกครองและชนชั้นผู้ถูกปกครอง ชนชั้นปกครองในสมัยแรกจึงเริ่มต้นด้วยหัวหน้าเผ่า หรือ ผู้นำชุมชน หลังจากนั้นก็ได้มีการพัฒนารูปแบบให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นเริ่มมีพิธีกรรมต่างๆเข้ามาเพื่อให้หัวหน้าเผ่าหรือผู้นำชุมชนนี้มีความแตกต่างออกไปจากบุคคลทั่วไปของสังคมหรือของกลุ่ม เวลาผ่านไปสังคมและกลุ่มต่างมีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นจำนวนประชากรก็เพิ่มขึ้นความซับซ้อนของการออกแบบระบบจึงมีมากขึ้นตามมา จุดนี้แหละจึงเริ่มมีคำว่าจักรพรรดิ กษัตริย์ และพระราชาเกิดขึ้น การที่จะทำให้คนยอมรับว่าคนกลุ่มนี้มีความพิเศษมากกว่าคนอื่นคือการใส่ความเชื่อความรู้สึกนึกคิดลงไปและไปผูกโยงร่วมกับความคิดทางศาสนาหรือทางลัทธิต่างๆที่แต่ละกลุ่มยอมรับนับถือและคิดว่าสิ่งนั้นเป็นความจริง (จากโลกที่ตัวเองสมมุติขึ้นมา)

ในขณะที่ชนชั้นปกครองต้องการที่จะรักษาสิทธิพิเศษต่างๆ ที่เกิดขึ้นจึงได้มีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ และมีการใส่ข้อมูลความเชื่อลงไปยังสังคมให้สังคมยอมรับว่าสิ่งที่ตัวเองมีนั้นสามารถสืบทอดได้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น สืบทอดทางสายเลือด สืบทอดจากการเลือกตั้ง สืบทอดโดยการคัดเลือกจากสภาขุนนางหรือผู้ปกครองอื่นๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละสังคมนั้นมีกฎเกณฑ์กติกาในการมอบอำนาจของประชาชนหรือสังคมให้กับชนชั้นปกครองอย่างไร

มาถึงตรงนี้ก็เป็นยุคสมัยที่มนุษย์มีการพัฒนาโครงสร้างทางสังคมที่เกิดซับซ้อนสูงมากเริ่มพัฒนาเป็นอาณาจักรเริ่มพัฒนาเป็นประเทศ มีการใช้ความเชื่อ มีการใช้ตรากฎหมาย มีการใช้จารีตและธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆเข้ามาเป็นเครื่องมือในการกำหนดแนวทางการปฏิบัติและการอยู่ร่วมกันของสังคมมนุษย์ ในขณะที่บางสังคมอย่างเช่นกรีกโบราณ ที่เราเชื่อกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของระบบประชาธิปไตยที่ให้ผู้ชายทุกคนในสังคมสามารถเข้าไปมีอำนาจในการออกสิทธิ์ออกเสียงในสภาได้เพื่อทำการคัดเลือกหรือออกกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ด้วยความที่สังคมมีประชาชนเพิ่มขึ้นและการสื่อสารนั้นมีข้อจำกัดเป็นอย่างมากในอดีตจึงทำให้ทุกคนไม่สามารถเป็นผู้แทนของตัวเองในการออกสิทธิ์ออกเสียงได้ แต่ต้องมอบความไว้วางใจทั้งหมดเอาไว้กับผู้ปกครอง และเชื่อว่าผู้ปกครองนั้นเป็นผู้มีบุญญาบารมีสามารถตัดสินใจได้อย่างถี่ถ้วนและเด็ดขาด คนผู้นี้จึงเรียกว่า กษัตริย์ แล้วตัวกษัตริย์เองก็มีผู้ช่วยเป็นเหล่าขุนนางทั้งหลายที่เป็นผู้ช่วยคิดแก้ไขปัญหาต่างๆของบ้านเมืองที่เกิดขึ้น แต่สุดท้ายแล้วเราก็จะพบว่าเป้าหมายของการเป็นกษัตริย์ที่แท้จริงคือการสร้างความมั่นคงและอุดมสมบูรณ์รวมถึงความผาสุกของประชาชน เราจึงเห็นว่ามีบทสอนมากมายเกี่ยวกับกษัตริย์ว่าต้องทำอะไร เช่นทศพิธราชธรรม หรือแนวทางการปกครองของต่างประเทศ

สรุปตรงนี้คือ ผู้ปกครองมีหน้าที่ที่จะต้องทำให้ประชาชนหรือสังคมนั้นสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความ ปลอดภัย ผาสุข เศรษฐกิจที่ดี การกินดีอยู่ดี ช่วยประชาชนมีหน้าที่ไว้วางใจและมอบสิทธิบางอย่างของตัวเองให้กับชนชั้นปกครองเพื่อให้ชนชั้นปกครองนั้นสามารถทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างดีที่สุด

แต่อย่างไรก็ตามในอดีตและประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็พบว่าหลายๆครั้งการใช้อำนาจของชนชั้นปกครองนั้นกลับไม่สามารถรักษาสมดุลของการเพิ่มประโยชน์ให้กับตัวเองกับการเพิ่มประโยชน์ให้กับสังคมได้ หมายความว่าเมื่อใดก็ตามที่ชนชั้นปกครองหาประโยชน์ให้กับตัวเองเกินกว่าการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมสังคมก็จะเกิดภาวะตกต่ำ ไม่ว่าทางด้านทางเศรษฐกิจ ปากท้องต่างๆของประชาชน ความปลอดภัยในชีวิต รวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างทางสังคมแนวคิด ถึงตรงนั้นก็ทำให้เกิดการเสื่อมถอยในศรัทธาของชนชั้นปกครอง เราก็จะสามารถพบได้ในประวัติศาสตร์ของการล่มสลายในแต่ละราชวงศ์ทั่วโลก

แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามชนชั้นปกครองสามารถที่จะช่วยทำให้สังคมมีความเจริญรุ่งเรือง มีการกินดีอยู่ดี มีการพัฒนาทางความสุขความคิดและจิตวิญญาณของมนุษย์ให้เพิ่มสูงขึ้น ในยุคนั้นชนชั้นปกครองก็จะได้รับการให้เกียรติได้รับการสรรเสริญ และเชิดชูเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ถึงตรงนั้นระบอบประชาธิปไตยกลับไม่มีใครพูดถึงเลยว่าต้องการเปลี่ยนแปลงเพราะทุกคนกำลังได้รับในสิ่งที่ตัวเองต้องการนั่นเอง

แต่เมื่อใดก็ตามที่ชนชั้นปกครองไม่ว่าจะเป็นระบบไหนที่ไม่สามารถสร้างความมั่งคั่ง ความมั่นคง ความผาสุก และการพัฒนาทางด้านชีวิตจิตใจ จิตวิญญาณ และความคิดของประชาชนได้ เวลานั้นประชาชนโดยทั่วไปก็จะเริ่มถามหาการเปลี่ยนแปลงจริงๆแล้วคืออยากจะเปลี่ยนแปลงผู้นำเพื่อต้องการให้ผู้นำคนใหม่นั้นสามารถที่จะพัฒนาทางสังคม ทางเศรษฐกิจ ให้สามารถตอบสนองความต้องการของตนเองได้ แล้วจะยิ่งเวลาผ่านไปผู้คนได้รับข้อมูลข่าวสารมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เกี่ยวกับรูปแบบแนวคิดในการปกครองจึงคิดว่าระบอบประชาธิปไตยจะเป็นตัวช่วยที่ทำให้ประชาชนสามารถมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำการปกครองที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้

จากนั้นระบอบประชาธิปไตยก็ได้เริ่มมีการพัฒนาแนวคิดต่างๆ ขึ้นไปอย่างเข้มข้นมากขึ้น ได้เริ่มพัฒนาไปถึงหลักปรัชญาของอำนาจและนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ ถึงตรงนี้ชวนให้ผมคิดขึ้นมาว่าแล้วถ้าบอกว่าจะไปไตดีจริงหรือ

เรามาเริ่มคิดตรงนี้ว่าในระบอบประชาธิปไตยคือการเคารพเสียงข้างมากของประชาชน แต่ถ้าว่าถ้าประชาชนไม่มีข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์เต็มที่ว่าคนใดนั้นเหมาะสมที่จะเป็นผู้ปกครองอย่างแท้จริง หรือมีข้อมูลข่าวสารที่ถูกจงใจให้บิดเบือนว่าคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ที่เหมาะสมในการปกครองอย่างแท้จริงแล้วนั้นเขาก็จะเลือกคู่นี้ขึ้นมาเป็นผู้ปกครองของตัวเอง นั่นหมายความว่าประชาชนก็เอาความเสี่ยงของชีวิตไปฝากเอาไว้กับการเลือก หรือเลือกตั้ง เพียงช่วงเวลาสั้นๆและต้องรอให้ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งนั้นหมดวาระซึ่งจะใช้เวลาสั้นหรือยาวแตกต่างกันไปตามระบบหรือระเบียบที่กำหนดเอาไว้ในแต่ละสังคม

ระบอบประชาธิปไตย จะทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อประชาชนทุกคนเรียนรู้ที่จะรับฟังซึ่งกันและกัน ซึ่งต้องอาศัยการปลูกฝังในสังคมอย่างยาวนาน และต้องมีวินัยต่อตนเองและต่อสังคมสูงมากจึงทำให้ระบบนี้สามารถที่จะทำงานได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันต้องมีระบบและกลไกของทางด้านการปกครองที่ช่วยให้ประชาชนสามารถทำความเข้าใจกับความสามารถของผู้เสนอตัวเข้ามาเป็นชนชั้นปกครองได้อย่างละเอียดและถี่ถ้วน สามารถสืบประวัติย้อนหลังได้อย่างยาวนานและให้ความสำคัญจริงจังกับความสามารถของบุคคลมากกว่าความพึงพอใจของบุคคล จากนั้นระบบประชาธิปไตยข้อดีคือ ระบบนี้จะช่วยทำให้เปลี่ยนแปลงผู้ปกครองได้เมื่อผู้ปกครองไม่สามารถตอบสนองความต้องการของสังคม และยิ่งไปกว่านั้นคือมีระบบในการตรวจสอบและคานอำนาจอย่างชัดเจนโดยที่ มีระดับการคานอำนาจอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถใช้อำนาจของตนเองได้อย่างเต็มที่ แต่ต้องรับผิดชอบผลของการตัดสินใจของตนเองได้อย่างเต็มที่จากการถูกสอบทานและคานอำนาจเช่นเดียวกัน เป็นเครื่องมือที่บังคับให้ผู้ปกครองมุ่งเน้นประโยชน์ของสังคมมากที่สุดเป็นหลัก น่าจะพิจารณาให้ลึกลงไปกว่านั้นผู้ปกครองก็ย่อมจะเป็นผู้ที่เสียสละเพราะเมื่อมุ่งเน้นประโยชน์ของสังคมมาก ประโยชน์ส่วนตนก็จะหายไปด้วยเช่นกัน ในประวัติศาสตร์ในหลายประเทศพบว่าผู้ที่เข้ามาเป็นผู้ปกครองประเทศนั้นหลายครั้งกับจะมีจำนวนหนี้สินหรือความมั่งคั่งของตนเองลดลงอย่างเห็นได้ชัดเช่นอดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เพราะเงินตอบแทนไม่เพียงพอต่อการใช้ในกิจการต่างๆของตนเอง ดังนั้นหลายครั้งที่ผู้ปกครองจึงพยายามต้องดึงประโยชน์ที่สามารถแสวงหาได้จากการดำรงตำแหน่งในหน้าที่เข้ากับตัวเองเพื่อให้เป็นการชดเชยกับสิ่งที่ตัวเองต้องทำลงไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์ความรู้ความสามารถของตนเองให้สังคมได้รับรู้ กิจกรรมแต่ละประเภทมีต้นทุนทั้งสิ้น ในที่สุดสิ่งนี้ก็ถูกพัฒนาเข้ามาสู่เรื่องของการเล่นการเมือง มีงานวิจัยบอกไว้ชัดเจนว่า นักการเมืองในสหรัฐอเมริกาจะทำงานจริงๆเพียงแค่ 25 เปอร์เซ็นต์ของระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งทั้งหมด ส่วนอีก 75% ที่เหลือนั้นเอาไว้ใช้สำหรับการหาเสียงเท่านั้นดังนั้นถือว่าเป็นการสูญเสียทรัพยากรทางด้านเวลาเงินทองอย่างยิ่งที่ประชาชนต้องเสียภาษีและยอมเสียสละเวลาของตนเองให้กับชนชั้นปกครองเพื่อนำไปสู่การพัฒนาทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ

นี่ก็นับว่าเป็นข้อเสียของระบอบประชาธิปไตยที่ถูกพัฒนาจะประชาธิปไตยทางตรงเป็นสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนและนำไปสู่การเล่นการเมืองเพื่อรักษาฐานเสียงและฐานอำนาจของชนชั้นปกครองเอาไว้ให้สามารถกลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่งในการปกครองได้ ในขณะที่กลุ่มคนอื่นๆที่ต้องการขึ้นมาเป็นชนชั้นปกครองก็มีความพยายามที่จะลดทอนความน่าเชื่อถือของกลุ่มที่ได้เป็นชนชั้นปกครองในปัจจุบัน เพื่อหวังว่าวันหนึ่งตัวเองจะได้สลับขึ้นมาเป็นชนชั้นปกครองบ้างจนกระทั่งมีคำกล่าวว่าอำนาจและตำแหน่งทางการเมืองเปรียบเสมือน “สมบัติผลัดกันชม” นับว่าเป็นเรื่องตลกร้ายทีเดียวเทียบระบอบประชาธิปไตยถูกพัฒนาจากความต้องการขั้นพื้นฐานคือความกินดีอยู่ดีของมนุษย์ไปสู่การสูญเสียอำนาจ และสร้างความเสี่ยงจากการที่เลือกผู้คนไปสู่ชนชั้นปกครองที่มีโอกาสพิจารณาเพียงน้อยนิด

ในทางตรงกันข้าม หากชนชั้นปกครองมาจากการคัดเลือกเลือกสรรหรือการสืบทอดด้วยสายเลือด เรียกอีกแบบหนึ่งว่าชนชั้นกษัตริย์ จักรพรรดิ หรือพระราชา ระบอบการปกครองแบบนี้ ก็อาจจะมีข้อดีคือมีเวลาคิดไต่ตรองจากผู้ที่มีประสบการณ์ทางด้านการปกครองให้มาเป็นผู้สืบทอดอำนาจการปกครองคนต่อไปจนกระทั่งนำไปสู่การขึ้นอำนาจของผู้ที่ถูกคัดเลือก ผู้นี้ก็จะรู้ดีว่าหน้าที่ของเขาต้องทำอะไร แต่ความเสี่ยงก็ตามมาอีกเช่นกันคือเมื่อผู้นี้ได้เข้าสู่อำนาจและมีเทคนิคการสืบทอดอำนาจให้สามารถสืบทอดได้กับพวกของตัวเองที่ได้กำหนดเอาไว้โดยไม่ได้พิจารณาถึงความสามารถและความเหมาะสมทางด้านการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมเป็นหลักแล้ว ก็จะทำให้การปกครองนั้นเต็มไปด้วยการสร้างความเสียหายให้กับสังคมเช่นกัน

เหตุการณ์บ่อยครั้งในอดีตที่ผ่านมานั้นพบว่าการปกครองด้วยระบอบกษัตริย์และพระราชาหากอยู่นานวิธีการคิดของผู้ปกครองก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไป ความกระตือรือร้นในการสร้างความมั่งคั่งให้กับสังคมก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไป แล้วพบว่าได้เตะนัดราชวงศ์ก็จะมียุคที่เจริญรุ่งเรืองในยุคเสื่อมถอยที่เกิดขึ้นซึ่งในแต่ละยุคนั้นจะกินเวลาที่ค่อนข้างนานทำให้ประชาชนในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า สาธารณรัฐ นั่นหมายถึงประเทศที่เคยมีระบอบกษัตริย์และมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้รัฐนั้นกลายเป็นของสาธารณชน ประเทศเหล่านี้ได้ผ่านความรุ่งเรืองและความทุกข์ยากพี่ใช้เวลานาน ยกตัวอย่างประเทศฝรั่งเศส ในยุคของการเปลี่ยนแปลงจากระบอบกษัตริย์ที่เคยรุ่งเรืองในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แต่ต้องกลับมาตกต่ำลงในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 เพราะว่ากษัตริย์ได้สร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองแต่มีความอดอยากกับประชาชนประชาชนจึงลุกขึ้นมาทำการเปลี่ยนแปลงแล้วเป็นระบอบจักรพรรดิ ในสมัยนั้นก็ได้เลือกนักรบที่คิดว่าตัวเองมีความสามารถอย่างจักรพรรดินโปเลียน ซึ่งจักรพรรดินโปเลียนเองก็ได้มีการถ่ายทอดอำนาจการปกครองของตนเองให้กับลูกหลานของตนและสุดท้ายก็ไม่สามารถที่จะรักษาความมั่งคั่งและการกินดีอยู่ดีของประชาชนเอาไว้ได้ด้วยปัจจัยหลายๆประการจึงกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบันโดยมีการเลือกประธานาธิบดีเป็นผู้มีอำนาจในการปกครองสูงสุดและมีวาระในการปกครองเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเลือกผู้ปกครองคนใหม่ และทบทวนผลงานที่ผ่านมาเป็นการลดความเสี่ยงของการอดอยากที่จะเกิดขึ้นกับสังคมแบบมีวาระ

พอมาถึงตรงนี้เรากลับเห็นว่ามันเป็นแนวคิดแบบทางสามแพร่ง การปกครองแบบกษัตริย์ก็ถือว่ามีข้อดี การปกครองแบบประชาธิปไตยก็ถือว่ามีข้อดี จริงๆแล้วทั้งหมดอยู่ที่ตัวผู้นำเท่านั้นไม่ว่าจะเป็นการปกครองระบอบไหน รวมไปถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีการสืบทอดอำนาจแบบที่เราเข้าใจกันอยู่ในทุกวันนี้ก็เช่นกัน หากผู้นำ สามารถสร้างเศรษฐกิจ สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเป็นระบบ ทั่วถึง และทำให้ประเทศมีการพัฒนานำไปสู่การได้เปรียบนำไปสู่การมีระเบียบเรียบร้อยในสังคม แล้วทำให้ประชาชนเห็นว่าตัวเองมีอนาคตอย่างไรเข้าใจว่าตัวเองจะต้องทำตัวอย่างไรนั้น ระบบการปกครองไม่มีผลอะไรเลย พอทั้งหมดประชาชนจะรับได้เนื่องจากประชาชนได้รับการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานในชีวิต รวมไปถึงประชาชนได้รู้ว่าตัวเองจะต้องทำอะไรต่อไป มีหลายประเทศที่ไม่เป็นระบบประชาธิปไตยแต่ประชาชนก็มีความสุขและยอมรับได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นภายในประเทศของตนเอง เพราะแต่ละประเทศนั้นเขาสามารถแสดงความจริงใจและวิธีการพัฒนาประเทศที่ให้ประชาชนเห็นได้ว่าประชาชนมาก่อน ส่วนการตอบแทนของชนชั้นปกครองนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละประเทศจะยอมรับได้อย่างไร บางประเทศก็มอบความมั่งคั่งและความร่ำรวยให้กับชนชั้นปกครองอย่างมากเพื่อเป็นการตอบแทนว่าประชาชนของตนก็ได้รับความมั่งคั่งและความร่ำรวยเช่นเดียวกัน

วันนี้เราควรจะต้องมาออกแบบวิธีการคัดเลือกผู้นำที่เห็นประชาชนเป็นศูนย์กลางเป็นหลักมากกว่าการที่เราจะมาเลือกระบบ จะเกิดอะไรขึ้นก็แล้วแต่หากประชาชนที่เป็นรากฐานที่สุดของประเทศไม่สามารถที่จะสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเอง หรือเข้าสู่ภาวะอดอยากปากแห้ง ข้าวยากหมากแพง วันนั้นกฎหมายและระบบต่างๆ จะถูกออกแบบไว้ดีขนาดไหนก็แล้วแต่มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย ตรงนี้ต่างหากล่ะที่เป็นเรื่องที่สำคัญที่เราต้องเข้าใจ

ในฐานะประชาชนคนหนึ่งรบกวนที่จะมีสิทธิ์ในการเลือกใช้ชีวิตโดยมอบความไว้วางใจให้ผู้ปกครองที่มีความสามารถที่เหมาะสมกับสถานการณ์แต่ละยุคแต่ละสมัย และมีระบบที่จะสามารถทำให้ผู้นำนั้นเปลี่ยนแปลงได้อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือเปลี่ยนแปลงผู้นำให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆได้เช่นเดียวกัน

ถึงตรงนี้ก็สรุปได้ว่าระบอบประชาธิปไตยก็ไม่ใช่ระบอบที่ดีที่สุด ระบบอื่นๆ ก็มีจุดอ่อนเช่นเดียวกัน

และที่เราคิดว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ดีที่สุดก็เพราะว่า เราเชื่อว่าเราสามารถเลือกผู้นำคนใหม่ได้ในช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้นำสามารถปรับตัวและจัดการแต่ละสถานการณ์ของประเทศที่เกิดขึ้นได้อย่างดีที่สุด

ขอบคุณที่ติดตามอ่านถึงตรงนี้ และหวังว่าเราจะใช้สติในการคิดพิจารณาและการดำเนินชีวิต และหวังลึกไปกว่านั้นอยากให้ผู้นำเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตลอดกาล

ดร. นารา กิตติเมธีกุล

หนึ่งปีกับการ Work form Home เราเรียนรู้อะไร?

หนึ่งปีผ่านไป หรือเรียกว่าปีกว่าๆ จากการล็อคดาวน์ครั้งที่แล้วเมือเดือนมีนาคม 2020 หลายคนได้เปลี่ยนแปลงชีวิตด้วยการทำงานออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบอยู่ที่บ้าน หลายคนยังต้องไปทำงานที่สำนักงาน บริษัท หรือ ที่ทำงานตามปกติ หลายคนไม่เคยได้ทำงานที่บ้านเพราะเป็นงานที่ต้องทำงานด้านการผลิต หรือการขนส่ง และยังคงต้องทำงานข้างนอกอยู่ตลอดเวลา แต่จากการล็อคดาวน์ ทำให้เราได้เรียนรู้การทำงานแบบใหม่ที่เป็นการทำงานที่เรียกว่า Work form Home จนกลายเป็น Work at Home ไปแล้ว เปลี่ยนบ้านให้กลายเป็นสำนักงาน หลายคนก็สามารถปรับตัวได้ หลายคนกลับฉวยโอกาสในการทำงานไปใช้เรื่องส่วนตัว หลายคนถูกลดเงินเดือนค่าจ้าง หรือรายได้ลง ซึ่งเป็นเรื่องราวที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน

บทความนี้มาเรียบเรียงคนที่ต้องทำงาน WFH แบบเต็มรูปแบบ แล้วต้องการักษาคุณภาพ ผลงานเอาไว้ให้อยู่เท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นกว่าเดิมว่าต้องคิด เตรียมตัว และปรับตัวอย่างไรบ้างทั้งในมุมมองของผู้ทำงานที่ต้องทำงานเท่านั้นเพื่อทำงานให้มีประสิทธิผลมากขึ้น

1. ปรับความเข้าใจ

สิ่งแรกของการ WFH ว่า เราไม่สามารถทำงานเหมือนเดิมได้ ดังนั้นกระบวนการในการทำงานต่างๆ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย ในการทำงานแบบปกตินั้น การที่งานด้วยกันให้ออฟฟิซ จะช่วยให้การประสานงานหรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นไปโดยง่าย ที่การพูดคุย การประชุม การสื่อสารต่างๆ การส่งเอกสาร การส่งงานต่อกัน แต่พอมา WFH คือการทำงานที่ต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ทำงานด้วยตัวเองมากขึ้น พูดคุยได้น้อยลง แม้ว่าจะมีการใช้เทคโนโลยี ก็ยังไม่สามารถทดแทนการสื่อสารแบบซึ่งหน้าได้อย่างสมบูรณ์ จุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้การทำงานเริ่มรู้สึกว่ายากขึ้น

2. ปรับการสื่อสาร

จากประเด็นข้อแรกทำให้เราเองมีข้อจำกัดในการสื่อสาร แม้ว่าจะมีระบบการประชุมออนไลน์ แต่ถ้าหากเรานับดีๆ จำนวนประโยค การถ่ายทอดประโยคต่างๆ ยังมีข้อจำกัดอยู่มากในเทคโนโลยีปัจจุบัน ดังนั้น เราต้องเรียนรู้ในการสื่อสารอย่างเป็นระบบ สื่อสารให้น้อยลงแต่มีประสิทธิภาพให้มากขึ้น เพราะโอากสในการสื่อสารมีน้อยลงมากๆ ดัวนั้น เมื่อมีการสื่อสาร เราต้องเข้าประเด็น ไม่อ้อมให้เสียเวลา และมีรายละเอียดครบถ้วน

3. ออกแบบข้อมูลให้พร้อมในการใช้งาน

ข้อมูลต่างๆ ที่ต้องใช้ในการทำงาน หลายๆ องค์กร ยังเป็นข้อมูลที่อยู่ในรูปของกระดาษ ทำให้เวลาทำงานต้องกลับไปดูกระดาษ หรือบางครั้งแม้ว่าจะเป็นการสแกนไฟล์แล้ว แต่ว่า ก็ยังเป็นเหมือนกับการดูกระดาษผ่านหน้าจอ การออกแบบข้อมูลนั้น จะต้องทำให้อยู่ในรูปของดิจิตัล ที่สามารถเอาข้อมูลนั้นไปใช้งาน สรุป เปลี่ยนแปลง วิเคราะห์ ต่อได้โดยง่าย ที่เรียนกว่าเปลี่ยนจาก Data เป็น Information ถ้ายังไม่เข้าใจ นั้นหมายความว่า เราเองต้องเรียนรู้การสร้างข้อมูลแบบดิจิตัล และพร้อมที่จะสร้าง พร้อมใช้ พร้อมพัฒนาตัวเองในด้านจัดการข้อมูลในลักษณะดิจิตัลมากขึ้น นอกจากนั้น ข้อมูลที่เป็นดิจิตัล ยังต้องเรียนรู้ในการจัดข้อมูลให้อยู่ในกลุ่ม หมวดหมู่ที่สามารถใช้งานได้ง่ายอีกด้วย เปรียบได้กับว่า เราต้องเป็นคนที่จัดตู้เอกสารเอง มีการจัดการแบบบรรณารักษ์ ในคอมพิวเตอร์ของเราเอง ให้ทำงานได้ง่ายขึ้น

4. เรียนรู้การใช้โปรแกรมและแอพคอมพิวเตอร์

การใช้งานนี้ ไม่ใช่เคยเกิดและใช้เป็นเท่านั้น แต่ต้องเรียนรู้การใช้คุณลักษณะต่างๆ ที่มีการเข้ากันได้ระหว่างแอพด้วย เพราะการทำงานเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ เราเอง ก็ไม่สามารถที่จะพึ่งพาแอพใดแอพหนึ่งได้ เราก็ต้องใช้แอพหลายๆ แอพเข้าด้วยกัน อย่างเช่นในการสื่อสารระหว่างคน เราใช้แอพแชตได้ การประชุม เราจะใช้ 2 แอพ ในเวลาเดียวกัน หรือ มี Cloud Drive เพื่อช่วยในการส่งข้อมูล การแก้ไขข้อมูล ร่วมกัน นั่นจะต้องอาศัยทักษะการเรียนรู้ การคิด การสังเกตุ และจดจำให้มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ ต้องใช้เวลาในการอธิบายอีกพอสมควร

5. จัดการเวลาและจัดการกายา

เนื่องจากบ้านไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เป็นที่ทำงาน ดังนั้น โดยธรรมชาติของบ้าน จึงไม่ได้มีฟังชั่นให้พร้อมสำหรับการทำงาน และบ้านให้ความรู้สึกว่าพักผ่อน ดังนั้น การจัดการเวลาในการทำงานแบบ WFH จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะ เราต้องตั้งเป้าหมายในการทำงานเอาไว้อย่างเคร่งครัด และสามารถส่งงานได้ตามกำหนด เนื่องจากคนอื่นที่เราต้องทำงานด้วย เค้ารองานจากเราอยู่ โดยที่เขาไม่รู้เลยว่า เราทำงานไปถึงไหน นื่องจากอยู่กันคนละที่ เราต้องสื่อสารกับทีมให้ชัดเจนว่า อะไรเป็นงานสำคัญเร่งด่วน หรือเป็นงานไม่สำคัญไม่เร่งด่วน เพื่อจัดความสำคัญ ในการทำงาน นอกจากนั้น เราต้องจัดการสิ่งที่อยู่รอบตัวของเราให้รูว่านี่คือเวลาทำงาน หรือเวลาพักผ่อนส่วนตัว เราต้องจัดการเรื่องนี้ให้เด็ดขาดออกจากกัน เพราะว่า หากเราเอาเรื่องส่วนตัวมาปนกับเรื่องงาน การทำงานแบบ WFH จะขาดประสิทธิภาพอย่างรุนแรง วิธีการหนึ่งที่เราช่วยให้การจัดการกายาได้ คือเราแต่งตัวเหมือนไปทำงาน และเราก็จัดการมุมทำงานเอาไว้ในบ้าน เหมือนเราเดินทางไปทำงาน แต่ที่ทำงานนั้นอยู่ในบ้านของตัวเอง ทำให้เรารู้สึกว่า การพักผ่อนในวันหยุด กับวันทำงานมีความแตกต่างกัน สมองจะเกิดการเรียนรู้ว่า ตอนนี้คือเวลาทำงาน หรือเราอาจจะตั้งนาฬิกาเอาไว้เหมือนกับเวลาเข้างานกับเวลาเลิกงานก็ช่วยได้

6. แบ่งเวลาเป็น 3 ส่วน

การแบ่งเวลาเป็น 3 ส่วนจะช่วยให้เรามีตารางการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้น ส่วนแรกคือส่วนการทำงาน เรารู้ว่าเราต้องทำงานอย่างไร เวลาไหน และต้องทำอะไรให้เสร็จ เวลาส่วนที่ 2 คือเวลาส่วนตัว เราสามารถใช้กับครอบครัวได้อย่างเต็มที่ เป็นช่วงที่เราไม่ต้องยุ่งกับงาน แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด และเวลาส่วนที่ 3 คือเวลาในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ปกติในการทำงาน เราจะเกิดการเรียนรู้จากการทำงานร่วมกับคนอื่น ทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ความคิด เป็นควารู้ใหม่จากทำงาน แต่เนื่องจาก WFH เราแทบจะไม่ได้เจอคนที่ต้องทำงานร่วมกัน และการประสานงานกับคนที่เราไม่เห็นหน้า ก็มีความยากกว่าในการเห็นหน้า เราจึงต้องเอาเวลาส่วนหนึ่งในการเรียนรู้กับตัวเองด้วย ทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะในการเกิดการแพร่ระยาดของ COVID เราพบว่าที่เรื่องราวต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก เทคโนโลยีก็เกิดขึ้นเร็วมาก เราเองต้องตามให้ทัน และสามารถนำไปใช้กับการทำงานได้ โดยเฉพาะการปรับปรุงฟังก์ชั่นในการทำงานใหม่ๆ ของแอพที่เราต้องใช้งาน

7. ออกกำลังกายด้วย

การ  WFH เป็นเรื่องที่ทำให้เรามีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลงมากๆ ดังนั้น เราเองต้องรู้จักการรักษาร่างกายของเราเอง ด้วยการออกกำลังกายในแบบที่เป็นตัวเรา จะหนัก เบา นาน สั้นอย่างไรก็แล้วแต่ เพื่อป้องกันความเสียหายของร่างกายจากการทำงาน นอกจากนั้น เราเองต้องการการเคลื่อนไหวร่างกาย เพราะว่า ทำให้สมองของเราสามารถทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ว่า เมื่อ WFH เราจะทำอย่างไรให้การทำงานมีผลงานออกมาได้มากขึ้น

ดร. นารา กิตติเมธีกุล

แบ่งงานกันทำ กับร่วมแรงร่วมใจ อย่างไหนไปรอด

การร่วมแรงร่วมใจของคนในสังคม หมายถึง การทำงานทดแทนกันได้หลายอย่าง แต่ไปในทิศทางเดียวกัน 

จากทฤษฎีตั้งต้นของนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลาย คงจะต้องเรียนคำว่า แบ่งงานกันทำ เพื่อให้เกิดความถนัด (Specialization) เมื่อมีความถนัดมาก ๆ แล้ว จะทำให้สามารถทำงานได้มากขึ้น และเกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ซึ่งทฤษฎีที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องจริง ไม่อาจจะเถียงได้ ด้วยอายุของทฤษฎีเป็นร้อยปี ก็ยังเป็นจริงอยู่ถึงทุกวันนี้ จะกระทั้งมีการพัฒนาทฤษฎีที่ทำให้เกิดการประหยัดอีกหลายเรื่อง เช่น การประหยัดต่อเวลา (Economy of Speed) หมายถึงการทำให้เร็วขึ้น ด้วยคุณภาพเท่าเดิม จะได้ปริมาณมากขึ้น ประหยัดเวลา และค่าแรงได้ การประหยัดต่อด้าน (Economy of Scope) หมายถึงการทำงานในหลาย ๆ งานที่ไปในทางเดียวกัน ก็จะเกิดการประหยัดได้ จะให้มากในอุตสาหกรรมขนส่ง Logistic และห่วงโซ่อุปทาน นั่นหมายความว่า การที่คนเราจะทำอะไรสักอย่าง ก็ต้องทำให้เก่งจึงจะเกิดผลดี

แต่ ณ จุดนี้ ผู้เขียนมีความที่อยากจะต่อยอดขึ้นไป (ไม่ได้คัดค้าน) เป็นการเสนอความคิดที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก คือการทำงานให้เกิดการประหยัด เป็นการลดใช้ทรัพยากรของโลกได้ แต่เป็นการเพิ่มภาระการพึ่งพิงของคนให้มากยิ่งขึ้น เพราะการที่คนเราจะมีชีวิตอยู่ได้ในแต่ละวัน จะต้องมีการบริโภคสินค้าและบริการต่าง ๆ มากมาย แต่การที่คนเรา ทำอะไรเพียง 1-2 อย่าง จะทำให้เกิดการขาดทักษะในการผลิตในชีวิตไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เมื่อไม่สามารถจะดำรงชีวิตได้โดยลำพัง จะต้ิองทำการผลิตที่ต้วเองสามารถทำได้ เพื่อแลกกับสิ่งอื่น ๆ ในการยังชีพ

ในภาพที่กว้างขึ้น เมื่อมนุษย์มีความซับซ้อนในการดำรงชีวิตมากขึ้น ต้องการสินค้าในการดำรงชีพมากขึ้น ก็ต้องอาศัยการพึ่งพิงมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้สังคมของมนุษย์จะต้องมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ในอดีตกาล สังคมเล็ก ๆ หรือหมู่บ้านหนึ่ง สามารถผลิตสินค้าเพื่อการยังชีพได้ครบถ้วนในสังคมเดียว แต่ปัจจุบัน มีบางสังคม จะผลิตสินค้าเพียงอย่างเดียว เช่นปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อนำเงินที่ได้ไปซื้อข้าว ซื้อปลา มารับประทาน เมื่อเกิดเห็ตการณ์อุปสงค์สินค้า่ชนิดนั้นลดลง ทำให้ราคาของสินค้าที่หมู่บ้านนั้นสามารถผลิตได้ลดลงตามไปด้วย

สุดท้ายก็หนีไม่พ้นการเป็นหนี้โดยเฉพาะ เกษตรกร และแรงงานอุตสาหกรรม ที่ทั้งชีวิตทำเป็นอยู่อย่างเดียว จากจุดนี้เอง ผู้เขียนจึงเสนอว่า การร่วมแรงร่วมใจ แบบที่สามารถทดแทนงานกันได้ เป็นทางออกในการอยู่รอดของสังคม เช่น คนเราควจจะสามารถเป็นทั้งเกษตรกร และ ช่างในเวลาเดียวกัน เป็นนักการเงินและการตลาดในเวลาเดียวกัน หรือเป็นมากกว่า 2-3 อย่างในเวลาเดียวกัน สิ่งเหล่านี้จะสามารถนำมาบูรณาการได้ ทำให้ผลิตภาพในการทำงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ สิ่งนี้เรียกว่า บูรณาการ (Integrated)

ดังนั้นการร่วมแรงร่วมใจของคนในสังคม หมายถึง การทำงานทดแทนกันได้หลายอย่าง แต่ไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการลดการพึ่งพิงระดับปัจเจกบุคคล ลดปัญหาการขาดแคลนทักษะแรงงาน และลดความเสี่ยงในการเกิดวิกฤติจากสถานะการณ์ต่าง ๆ

แต่อย่างไรก็ดี บุคคลจะต้องมีทักษะอย่างใดอย่างหนึ่งที่โดดเด่ด เพื่อเป็นการสร้างการประหยัดต่อขนาดจะความชำนาญเฉพาะด้านด้วย ยังเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่าสูงสุด แบบยังยืนสืบไป

ดร. นารา กิตติเมธีกุล

เงินออม พระเอกตัวจริง ของระบบเศรษฐกิจ

คำว่าเศรษฐกิจตกต่ำ หมายความว่า การเจริญเติบโตของรายได้ประชาชาติ ไม่เติบโต หรือ หดตัว ซึ่งเกิดจากการที่หน่วยธุรกิจ หรือบุคคล ไม่สามารถสร้างรายได้เพิ่มได้ขึ้นได้ หรือมีรายได้หดตัวพร้อม ๆ กัน จำนวนมาก ซึ่งมักจะเกิดขึ้นทุก ๆ 7-15 ปี ต่อครั้ง

เรียกว่าเป็นวัฏจักรทางเศรษฐกิจ ซึ่ง โดยปกติแล้ว เศรษฐกิจจะมีช่วงขยายตัว หรือ Boom และช่วงหดตัว หรือ Recession หน้าที่ของผู้บริหารเศรษฐกิจของประเทศ มีหน้าที่ทำให้จุดสูงสุดของ Boom และ ตำสุดของ Recession มีระยะห่างให้น้อยที่สุด

พฤติกรรมของภาคเอกชนโดยทั่วไปมักจะเป็นพฤติกรรมที่เร่งให้เศรษฐกิจเติบโต คือ เมื่อเศรษฐกิจขยายตัว เอกชนจะเร่งการใช้จ่าย การลงทุน และการกู้ยืม ที่สำคัญ หลาย ๆ คนจะมีการออมในรูปเงินสดน้อยลง เป็นการเร่งการหมุนของเศรษฐกิจมากขึ้น จนกลายเป็นสภาวะฟองสบู่ เพราะทุกคนคาดว่าอนาคตจะดี จึงไปพึ่งพารายได้ในอนาคตมากเกินไป

ในทางกลับกัน เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ เอกชน จะยุติกิจกรรมต่าง ๆ เก็บเงินสดให้มากที่สุด เพื่อรอเวลาเศรษฐกิจฟื้น ทำให้ระบบเศรษฐกิจ มีการหมุนเวียนน้อยลง ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่เป็นการบริโภคขั้นฟื้นฐานเท่านั้น

เงินออม จึงเป็นตัวช่วยให้สภาวะการแกว่งตัวของเศรษฐกิจมีความรุนแรงน้อยลง และเป็นหลักประกันความมั่นคงในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้ดังนี้

เมื่อเศรษฐกิจเติบโต เอกชนควรกันเงินออมไว้ส่วนหนึ่ง เงินเหล่านี้จะไม่ถูกนำมาใช้ในระบบเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจไม่เติบโตจนเร็วเกินไป และยังเป็นการสะสมความมั่งคั่งที่ไม่ด้อยค่า

เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ เอกชนจะสามารถนำเงินออมออกมาใช้ เพื่อดำรงชีวิตได้ตามปกติ ในขณะเดียวกัน ยังสามารถเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ที่สามารถสร้างกำไรได้ในอนาคต เช่น ทองคำ ที่ดิน หรือหุ้น ในราคาที่ถูกด้วย

วิธีการเริ่มต้นคือ เมื่อเศรษฐกิจอยู่ในภาวะเติบโต ให้ตั้งนโยบายการออมไว้จากรายได้ หรือกำไรสุทธิในทุก ๆ เดือน อย่างสม่ำเสมอ และเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ ให้ตั้งนโยบายการใช้เงินออมในเรื่องอะไรได้บ้าง ในปริมาณเท่าไหร่ในแต่ละเดือน เพื่อให้อยู่รอดได้ตลอดระยะเวลาของภาวะเศษฐกิจตกต่ำ

เงินออมจึงถือได้ว่าเป็นพระเอกตัวจริงของระบบเศรษฐกิจ ที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพในระยะยาว เรามาส่งเสริมนิสัยการออก เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน ก่อนที่จะสายเกินไป

ดร. นารา กิตติเมธีกุล

การมีลูกน้อยกับภาระอันใหญ่หลวงของสังคม

ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา อัตราการเกิดของประชากรในหลาย ๆ ประเทศมีตัวเลขใกล้เคียงกับ 0% รวมไปถึงประเทศไทยด้วย เหตุการณืนี้เริ่มมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความไมพร้อมทางการเงิน วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง ไม่ชอบเด็ก ฯลฯ

สิ่งที่จะเกิดปัญหาอย่างใหญ่หลวงในอนาคตคือ ใครจะเป็นคนดูแลคนแก่ในอีก 30 ปีข้างหน้า???

คำถามนี้เกิดจากการที่มาร้อยเรียงเหตุการณ์ว่า ในปัจจุบัน ประชากรของไทยมีอายุยืนขึ้น แต่งงานช้าลง มีลูกช้าลง เหตุการณ์เหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า จังหวะของชีวิตมนุษย์ถูกถ่างออกให้กว้างขึ้น หมายความว่า มนุษย์ต้องการบริโภคมากขึ้น!!

ประเด็นที่สำคัญคือ การเกษียณอายุยังคงเป็นอายุเท่าเดิม 55-60 ปี นั้นแสดงถึงว่า เมื่อหลังจากที่เกษียณแล้ว คนเราจะไม่มีรายได้อีกประมาณ 20 ปี

มาดูเรื่องการหารายได้ในปัจจุบัน เดี๋ยวนี้คนเรานิยมเรียนหนังสือ เรียนเยอะ ๆ จะได้มีรายได้เยอะ ๆ (ไม่รู้จริงหรือเปล่า) อย่างน้อยก็เรียนปริญญาตรีจบอายุ 22 หรือถ้าต่อเลยก็เป็นปริญญาโท จบอายุ 25 เริ่มทำงานถึงอายุ 60 ปี แสดงว่า คนเรามีเวลาการทำงาน 40 ปี ใน 40 ปี นี้จะต้องหารายได้เพื่อการยังชีพของตนเอง ครอบครัว พ่อแม่ที่เกษียณแล้ว

ทีนี้ลองมาลำดับเหตุการณ์กัน ถ้าชายคนหนึ่งเกิดมาตอนที่ พ่อแม่อายุ 30 ปี ลูกคนเดียว ต้องเรียนถึงอายุ 22 ปี แสดงว่าพ่อแม่ต้องรับภาระ 22 ปี หลังจากนั้นทำงาน พ่อแม่อายุ 52 เหลือเวลา 8 ปีในการทำงาน เมื่อพ่อแม่เกษียณ ลูกก็ 30 พอดี ต่อมาอีก 5 ปี (อายุ 35 ปี) ชายคนนี้แต่งงานกับหญิงอีกคนหนึ่ง อายุ 30 ปี (ลูกคนเดียวเหมือนกันมีพ่อแม่อายุเท่ากัน) เท่ากับว่า ชาย-หญิงคู่มีครอบครัวใหญ่คือ พ่อแม่ผู้ชายอายุ 65 ปี พ่อแม่ผู้หญิง อายุ 60 ปี

1 ปีจากนั้น มีลูก 1 คน ตอนนี้นับสมาชิกได้ 7 คน มีคนที่ยังทำงานได้ 2 คน ภาวะพึ่งพิง 5 คน
3 ปีต่อมา ลูกเข้าโรงเรียน ค่าใช้จ่ายเริ่มเยอะขึ้น ชายคนนี้ อายุ 39 ปี หญิง 34 ปี พ่อแม่ผู้ชาย 69 ปี พ่อแม่ผู้หญิง 64 ปี สรุป
1 ปี ต่อมา พ่อแม่ผู้ชายเริ่มเจ็บป่วย เข้าออกโรงพยาบาลอยู่เรื่อย ๆ
5 ปีต่อมา ผู้ชายอายุ 45 ผู้หญิง 40 ปี ลูก 10 ปี พ่อแม่ผู้ชาย 75 (ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องจ้างคนมาดูแล) พ่อแม่ผู้หญิง 70 ปี (เริ่มป่วยเข้าโรงพยาบาล)
สรุปภาระ ทำงาน 2 คน หาเลี้ยง 7 คน รวมตัวเอง และผู้ดูแลพ่อแม่ด้วย

อีก 5 ปี พ่แม่ผู้ชายเสียชีวิต อายุ 80 ปี พ่อแม่ผู้หญิงป่วย (ดูแลตัวเองไม่ได้)
สรุปภาระ ทำงาน 2 คน เลี้ยงดู 5 คน
ตอนนี้ผู้ชายอายุ 50 ผู้หญิงอายุ 45 ลูกอายุ 15 ปี พ่อแม่ผู้ชาย — พ่อแม่ผู้หญิง 75 ปี+คนดูแล

อีก 5 ปี พ่อแม่ผู้หญิงเสียชีวิต
อีก 2 ปี ลูกเรียนจบปริญญาตรีและเรียนต่อ
อีก 2 ปี เรียนจบปริญญาโท
ผู้ชายอายุ 59 ปี ผู้หญิง อายุ 54 ปี ลูก 24 ปี เริ่มทำงาน
สรุปทำงาน 3 คน เลี้ยงดู 3 คน (อีกปีเดียวผู้ชายเกษียณ)
แล้วกว่าลูกจะแต่งงาน…

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ รายได้ที่หาได้ในปัจจุบัน เพียงพอต่อการเลี้ยงดูทุกคนในครอบครัวหรือไม่ อัตราพึ่งพิงสูงสุด 7/2 หมายความว่า 1 คนต้องเลี้ยงดู 3.5 คน ดังนั้น การจะหารายได้ต้องมากกว่ารายจ่าย 3.5 เท่าขั้นไปถึงจะมีเงินเก็บได้ ถ้าคนเรามีค่าใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาทต่อคน จะต้องมีรายได้ 35,000 ต่อเดือนขึ้นไป ถึงจะเริ่มมีเงินเก็บ และสะสมความมั่นคั่งให้กับชีวิตได้

ในสมัยก่อน คนเรามีลูกเยอะ ทำให้อัตราพึ่งพิงมีน้อยกว่าปัจจุบันมากทำให้ระบบในสังคมยังสามารถอยู่ได้ แต่ในอนาคต คนที่อายุ 30 วันนี้กำลังจะเจอสถานการณ์แบบนี้ในอนาคต

วิธีการแก้ไข วิธีแรกคือการลดภาระพึ่งพิง หมายถึง การทำงานหลังเกษียณให้เพียงพอต่อการยังชีพ และการหารายได้เสริมระหว่างเรียน นอกจากนั้น คนทำงานต้องรู้จักการออมเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงให้กับตนเองในอนาคต นอกจากนั้น คนที่ทำงานจะต้องหารายได้ให้กับตอนเองมากกว่าที่บริโภคอย่างน้อย 3 เท่า

ในบ้างประเทศรัฐบาลบังคับการออมของตนเองผ่านระบบภาษี คือ รัฐบาลเก็บภาษี 60% ของรายได้สุทธิ แต่เมื่อเกษียณ์อายุ 65 แล้ว (เกษียณอายุแก่กว่าของไทยด้วย) จะมีเงินเดือนจ่ายให้เพื่อยังชีพทุกเดือน และเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ในวงเงินที่กำหนดต่อปี อีกทั้งยังมีบ้านพักสำหรับคนชราที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหานี้ในระยะยาว

ประเทศไทยจะเป็นแบบนั้นได้หรือไม่???

ดร. นารา กิตติเมธีกุล

การประหยัด คือวิถีขั้นต้นของการอยู่รอด

ในปี 2010 โลกของมนุษย์ มีปัญหาจากภัยภิบัติตามธรรมชาติมากมาย ทั้งเรื่องแผ่นดินไหว พายุ อุทกภัย วาตภัยต่าง ๆ ทั่วโลก แม้แต่ในประเทศไทยเอง ปี 2011 ก็มีเหตุการณ์ มหาอุทกภัย อย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน

นักวิชาการหลายคนได้สรุปว่าเกิดจากปัญหาโลกร้อน ทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อย่างรุนแรง และยังไม่รู้ว่า จะเกิดภัยธรรมชาติอะไรอีก จุดเริ่มต้นของการเกิดภัยธรรมชาติคือการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์ อย่างไม่รู้จักปันยะปันยัง โดยบอกว่ากลไกตลาดเป็นตัวตัดสินในการจัดสรรทรัพยากร แต่เกิดความล้มเหลวของกลไกตลาดโดยสิ้นเชิง

การบริโภคของมนุษย์ คิดว่ามีปัญญาหามาได้ก็ใช้ได้ แต่มนุษย์เรายังขาดการตระหนักว่า รู้จักใช้แต่เพียงพอ ประหยัด เพื่อให้ธรรมชาติมีโอกาสฟื้นตัว และเหลือใช้ไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

การประหยัดในที่นี้ นอกจากจะประหยัดสินทรัพย์ของตนเองแล้ว ยังรวมถึงการประหยัดทรัพยากรส่วนร่วมด้วย

เนื่องจากทรัพยากรส่วนรวม จะเป็นทรัพยากรที่ผู้ใช้ไม่ได้จ่ายค่าใช้ทรัพยากร ดังนั้นจึงคิดว่าไม่มีต้นทุนในการบริโภค จึงใช้อย่างเต็มที่ แบบนี้ทางเศรษฐศาสตร์ เรียกว่า Free Rider เป็นการสูญเสียโดยไม่ควรจะเสีย

ยกตัวอย่างการใช้ทรัพยากรส่วนรวม เช่นการใช้น้ำสาธารณะ เมื่อไม่ต้องจ่ายค่าน้ำ ก็ใช้เต็มที่ ทำให้สังคมต้องเสียน้ำ โดยไม่จำเป็น ภาครัฐมีต้นทุนเพิ่มในการจัดหาน้ำมาให้ใช้ และสุดท้ายมีผลมาถึงการจัดหารายได้ของรัฐ ที่จะต้องมาเพิ่มภาษี หรือ อากร มาชดเชยค่าใช้จ่าย

อีกตัวอย่าง การใช้ถนน บางคนคิดว่าถนนเป็นของส่วนกลาง จะใช้ยังไไงก็ได้ไม่ต้องประหยัด ขับให้ครบทุกเลน ถ้ารถไม่เยอะก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ารถเยอะ จะทำให้ กระทบกับรถคันอื่นๆ ใน 2 ทาง ทางแรกเป็นทางตรง ทำให้รถคันอื่นต้องเบรก เพื่อให้คันที่เปลี่ยนช่องไปได้โดยไม่ประสบอุบัติเหตุ ผลคือ รถคันอื่นเปลืองเบรก เปลืองน้ำมันที่จะต้องเร่งคันเร่งใหม่อีก คันที่เปลี่นเลนไปมา ก็ต้องเร่งเครื่องเพื่อให้พ้น เปลืองเบรก เปลืองน้ำมันด้วยเช่นกัน ทางที่ 2 คือ รถจะติดเพิ่มขึ้น ทำให้รถที่มาในทางนั้น สิ้นเปลืองน้ำมันมากขึ้นด้วย และยังเป็นผลให้รัฐ จะต้องจัดหาถนนเพิ่ม และการจัดการจราจรเพิ่มด้วย

การประหยัด ในที่นี้ หมายถึง การรู้จักใช้ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวอย่างคุ้มค่า ไม่เพิ่มภาระให้กับผู้อื่นอีก อยู่ทุกชั่วขณะจิต ตลอดเวลา

การมีสำนึกในการประหยัดนี้ จะทำให้ เกิดเงินออม เหลือทรัพยากร และยังมีสะสมเอาไว้ใช้ในช่วงจำเป็น และฉุกเฉิน เมื่อมนุษย์มีทรัพยากรสะสมเป็นของตนเองแล้ว ก็จะเป็นการลดภาวะพึ่งพิงบุคคลอื่นได้อีกทางหนึ่งด้วย

ดร. นารา กิตติเมธีกุล

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยเรื่องเนื้อคู่

มีผู้คนมากมายที่เฝ้าติดตามหาความรักที่ตนเองพึงปรารถนา และมีผู้คนมากมายที่มีความต้องการความรักจนใช้วิธีว่า ใครก็ได้ที่เข้ามาในชีวิตในจังหวะที่ตนเองเปิดรับ จะรับเป็นคู่ครองของตน แต่ถ้าหากพิจารณาให้ดีแล้ว คนที่เข้ามาในจังหวะนั้น เราใช้ความอยาก หรือารมณ์ความอยากเป็นที่ตั้งจนลืมพิจารณาความเหมาะกับเรา สุดท้ายจะนำมาสู่การเลิกล้างกันไป ดังนั้น คู่ครองที่มีความเหมาะสมกับเรานั้น จึงเรียกว่าเนื้อคู่

ตามหลักพระพุทธศาสนา ว่าด้วยเรื่องเนื้อคู่มีดังนี้
พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงเหตุปัจจัยไว้ในสมชีวิสูตรที่ 1 พระไตรปิฎก เล่มที่ 21 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 13 อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ดังนี้
“ดูกร คฤหบดีและคฤหปตานี ถ้าภรรยาและสามีทั้งสองหวังจะพบกันและกันทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพไซร้ ทั้งสองพึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน ภรรยาและสามีทั้งสองนั้น ย่อมได้พบกันและกันทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ”

อธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้

1. รักษาศีลให้เสมอกัน
บุคคลที่มีศีลเสมอกันย่อมอยู่ร่วมกันได้ในปัจจุบัน เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็สามารถไปเสวยกรรมดีร่วมกัน แต่หากฝ่ายหนึ่งทรงศีล แต่อีกฝ่ายทุศีล ฝ่ายหนึ่งย่อมไปสู่สุคติภูมิ ส่วนอีกฝ่ายต้องไปสู่อบายภูมิ โอกาสที่จะได้กลับมาพบกันนั้นยากยิ่งนัก

2. ให้ทานและยินดีในการบริจาคเสมอกัน
หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดให้ทานและบริจาค แต่อีกฝ่ายไม่ชอบใจ ก็จะเกิดความขัดแย้ง ไม่ลงรอยกัน นำไปสู่ความบาดหมาง และเอาใจออกห่างกันในที่สุด

3. ทำปัญญาให้เสมอกัน
การทำปัญญาให้เสมอกัน มีการปฏิบัติสมาธิภาวนา จะทำให้ทั้งสองมีความเข้าใจในโลกธรรมเสมอกัน มีความเข้าใจในสุขและทุกข์จากการอยู่ร่วมกัน และยอมรับกันได้

4. ตั้งจิตอธิษฐานศัทธา
อธิษฐานนั้นมีผล ทั้งอธิษฐานที่เป็นกุศลและอกุศล การอธิษฐานเป็นเหมือนการตั้งหางเสือเรือ ทำให้เรือมุ่งหน้าสู่จุดหมายที่กำหนดไว้ ในการครองคู่ก็เช่นกัน อธิษฐานจะเป็นตัวชักนำให้หญิงชายได้กลับมาพบกัน และได้ครองคู่กันได้ในที่สุด ดังเช่น อธิษฐานของสุมิตตาพราหมณี ซึ่งอธิษฐานเป็นคู่บารมีให้พระโพธิสัตว์ จากนั้นมาอีกหลายชาติ ทั้งสองก็ต้องใช้เวลาปรับศีล ทาน และปัญญา ให้มาเสมอกัน และได้เป็นคู่บารมีกันสมคำอธิษฐานนั้น

ที่มาแหล่งอ้างอิง

ดังนั้น ในทางเศรษฐศาสตร์ การเสมอกันจึงหมายถึงดุลยภาพของอุปสงค์และอุปทานระหว่างคน 2 คน หรือหมายความว่าคน 2 คนนั้น หากจะเป็นเนื้อคู่กันแล้วจะต้องมีการให้ (ความรักคือการให้) และการรับที่สมดุลกันตลอดเวลาทั้ง 4 มิติ หรือ 4 ตลาดของการใช้ชีวิตร่วมกัน คือ ศีล ศรัทธา จาคะ และปัญญา บทความนี้จึงขออธิบายความสมดุลของพฤติกรรม อยู่ในรูปแบบของตลาดทั้ง 4 โดยมีความต้องการของแต่ละด้านเป็นอุปสงค์ และการให้ของคู่ครองของเราเป็นอุปทาน ในทางกลับกัน การให้ของเราจะต้องไปสอดคล้องกับอุปสงค์ของคู่ครอง และการรับของเราจึงไปสอดคล้องกับอุปทานของคู่ครองด้วย ด้งนั้น การเกิดเนื้อคู่จะต้องเกิดดุลยภาพพร้อมๆ กันใน 8 ตลาด หรือเป็นตลาดคู่ คือตลาดเกี่ยวกับศีล (ของทั้ง 2 คน) ตลาดเกี่ยวกับศรัทธา (ของทั้ง 2 คน)

ภาพที่ 1 ดุลยภาพของตลาดฝ่ายชาย

 

ภาพที่ 2 ดุลยภาพของตลาดฝ่ายหญิง

จากภาพเป็นการแสดงให้เห็นถึงความต้องการในการรับและการให้ของความเหมาะสมเนื้อคู่ทั้ง 4 ด้าน ทั้งฝ่ายชายและภายใหญ่ จึงทำให้เกิดเป็น 8 ตลาดในเวลาเดียวกัน เป็นตลาดที่มีความซับซ้อน สาเหตุของการเกิดตลาดคู่ เพราะคนเรามีความรัก ที่มักจะแสดงออกด้วยการให้ โดยไม่มีเงื่อนไขต่างๆ ดังที่เรามักจะได้ยินอยู่เสมอว่า ความรักที่บริสุทธิ์ คือการให้แม้กระทั่งชีวิต หรือ ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ขอเพียงได้รักก็เพียงพอแล้ว ในขณะที่โดยธรรมชาติของมนุษย์จะมีความต้องการเป็นพื้นฐาน สิ่งนี้เรียกความใคร่ หมายถึง ความต้องการได้รับและครอบครองเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า สิ่งนั้นจะอยู่กับเราตลอดเวลา ในการใช้ชีวิตคู่ จึงเป็นการผสมผสานระหว่างความรักและความใคร่เข้าด้วยกัน จึงเป็นสาเหตุของการเกิดตลาดคู่แฝด

พฤติกรรมการแลกเปลี่ยนอุปสงค์ (ความต้องการ) และอุปทาน (การให้)

ในการใช้ชีวิตคู่ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในการใช้ชีวิตและกิจกรรมร่วมกันกัน ดังนั้น รูปแบบของกิจกรรมต่างๆ ทั้งด้านศีล คือ สิ่งที่ตนเองไม่กระทำ เพราะศีลเป็นข้อห้าม จึงเป็นความต้องการที่จะไม่กระทำ หากมีคนใดคนหนึ่งทำในสิ่งที่อีกคนไม่ชอบ ไม่กระทำ จะเกิดความอึดอัด เช่น ฝ่ายชายชอบดื่มสุรา แต่อีกฝ่ายไม่ชอบดื่มเลย และรู้สึกไม่ดีต่อสุรา จะเกิดความอึดอัดเกิดขึ้น หรืออีกหนึ่งตัวอย่างคือ ฝ่ายหนึ่งชอบหยิบของเล็กๆ น้อยติดมือ โดยที่อีกฝ่ายรู้สึกผิดที่จะอยู่ในเหตุการณ์แบบนี้ เมื่อเกิดขึ้นบ่อยๆ สุดท้ายจะทะเลาะกันในที่สุด

ความศรัทธา เป็นเรื่องการนับถือสิ่งเหนือชีวิต ดังนั้น หากความเชื่อความศัทธาไม่เหมาะสมกัน ไปกันคนละทาง ทำให้เกิดกรอึดอัด เพราะความศรัทธา เป็นเรื่องที่กระตุ้นให้มนุษย์สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่เสมอ เช่น ทัชมาฮาล คือผลงานความศัทธาในคามรัก มหาวิหารนักบุญเปรโตร พุทธคยา สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานถึงความยิ่งใหญ่ของความศรัทธา เมื่อมีศัทธาที่แรงกล้า จะเกิดพลังอย่างยิ่งใหญ่ ดังนั้น การใช้ชีวิตคู่ที่สมกัน จะต้องมีพลังที่ยิ่งใหญ่ไปในทางเดียวกันสร้างสิ่งที่ทรงพลังไปด้วยกัน เกิดการรับพลังและส่งพลังหากันเป็นอีกดุลยภาพของตลาด

จาคะ เป็นเรื่องการให้ การบริจาค และการยินดีที่เหมือนกัน มนุษย์มีความต้องการเป็นผู้ให้ แต่การให้ของแต่ละคน มีรับรู้คุณค่าที่ต่างกัน ประเด็นที่สำคัญของจาคะ คือการเสียสละเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นการเสียสละเวลา การเสียสละกำลังกาย ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และในแต่ละคนเห็นคุณค่าทั้งการรับและการให้ไม่เหมือนกัน เช่น ฝ่ายชายคิดว่าเงินคือเรื่องใหญ่ จึงพยายามซื้อของราคาแพงให้ แต่ฝ่ายหญิงกลัต้องการเพียงเวลา ไม่ได้ต้องการของราคาแพง ดังนั้น การเห็นคุณค่าในการให้ของคนอื่นจึงไม่เหมือนกัน แต่การที่จะยินดีร่วมกัน จะต้องมีส่วนที่คล้ายคลึงกัน จึงสร้างความพึงพอใจ หรือความสุขร่วมกันได้

ปัญญา เป็นเรื่องทางความคิดของคน เป็นเรื่องของความสามารถในการทำความเข้าใจในแต่ละคน การที่มีปัญญาสมกันนั้น ไม่ใช่เรื่องของการศึกษา แต่เป็นเรื่องของการให้และรับ หรือการแลกเปลี่ยนทางความคิดได้เท่ากัน หากใครคนหนึ่งจะต้องคอยคิดให้อีกฝ่ายหนึ่งตลอดเวลา ในช่วงที่รักกันใหม่ๆ อาจจะยังไม่เห็นความอึดอัดคับข้องใจ ดังคำกล่าวว่า น้ำต้มผักที่ว่าขมก็ยังหวาน แต่เมื่อเวลาผ่านไป พลังงาน ความอดทนหมดไป จะรู้สึกถึงความแตกต่างกัน และเกิดความไม่สมดุลกันในที่สุด

ภาพที่ 3 ความไม่สมดุลกันของการให้และการรับทั้ง 4 ด้าน
เมื่อคน 2 คนไม่สมกัน จะเกิดการบิดเบี้ยวของตลาดทั้ง 4 ยิ่งบิดเบี้ยวมากเท่าไหร่ จะยิ่งก่อให้เกิดความอึดอัดมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น ในการพิจารณาเนื้อคู่ ให้ใช้ประเด็นทั้ง 4 ประกอบกันว่า คน 2 คนนั้น มีความสมดุลกันอย่างไร ความรัก เป็นการให้ แต่เนื้อคู่จะต้องเป็นผู้รับด้วยเช่นเดียวกัน จึงจะเกิดความสุขร่วมกัน มนุษย์ จะมีความสุขได้ ต้องเกิดจากการรับ และการให้ เป็นการสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นในตนเอง
เมื่อเราพบใครสักคนที่สามารถสร้างให้เรามีคุณค่าจากการรับและการให้ได้แล้ว นับว่าเราเป็นคนโชคดีที่พบสิ่งที่ใช้ สำหรับเรา เพราะการเข้ากันได้ของคน 2 คนนั้น เป็นเรื่องที่ยากเป็นอย่างยิ่งในชีวิตของคนคนหนึ่ง ในคำกล่าวของคนดบราญจึงมักมีคำ 2 คน คือ คู่บุญ แปลว่า บุคคลที่เป็นเนื้อคู่หรือตลาดทั้ง 8 สมดุลกันกันมาใช้ชีวิตร่วมกัน และคู่กรรม คือบุคคลที่ ตลาดทั้ง 8 ยังไม่สมดุลกันมาใช้ชีวิตร่วมกัน จะเกิดความไม่สบายใจกันตลอดเวลา สุดท้ายนำไปสู่การแยกตลาดหรือเลิกล้างกันในที่สุด
ขอให้ทุกคนมีตลาดของเนื้อคู่ที่สมดุลเสมอกัน
ดร. นารา กิตติเมธีกุล

ธุรกิจพอพียง ไม่ใช่แค่เพียงพอ

ในยุคแห่งความท้าทายทางเศรษฐกิจในกระแสหลักของทุนนิยม ที่สร้างความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ ให้กับทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำความมั่งคั่ง ระหว่างคนรวยและคนจน เกิดช่องว่างของการแสวงหาโอกาสระหว่างนายทุนและแรงงาน การสร้างมูลค่าทางการเงินด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้า ที่ไม่ก่อให้เกิดความคุ้มค่าในการบริโภค จนกลายเป็นเงินเฟ้อ การถ่ายโอนความเสี่ยงให้คนอื่นโดยการ Out Source จนเหลือการผลิตหลักเพียงอย่างเดียวที่กลายเป็นความเสี่ยงโดยไม่รู้ตัว หรือการสร้างเศรษฐกิจจากสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่นการใช้เทคโนโลยีดิจิตัล หรือการใช้การบริการเป็นการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ จนลืมรากเหง้าแห่งการมีชีวิตของมนุษย์

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ กลายเป็นปัญหาที่สะสมมานาน จนกลายเป็นปัญหาของระบบโลก ที่เกิดขึ้นใน 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ ประเด็นที่ 1 ความสามารถในการใช้ทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกันของประชากรโลก ทำให้ผู้ที่ถือเอาทรัพยากรจำนวนมาก เป็นผู้ที่ได้เปรียบในการสร้างความมั่งคั่งยิ่งๆ ขึ้น และผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร จึงกลายเป็นผู้ต้องทำตามกติกาของผู้ถือครองทรัพยากร และถูกเอาเปรียบมากขึ้นเรื่อยๆ ประการที่ 2 การสร้างเศรษฐกิจด้วยโลกที่ไม่มีตัวตน หรือ สินทรัพย์คงตัว หมายถึง การสร้างรายได้ด้วยสิ่งที่ไม่ใช้สิ่งพื้นฐานของการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ สลายตัวไปเมื่อสิ้นสุดการผลิตและบริโภค เช่น การบริการ จะสิ้นสุดสภาพทรัพย์สินทันทีเมื่อบริการเสร็จ หรือ ระบบดิจิตัล จะหายไปเมื่อหยุดการทำงานของเครื่องมือ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นภาพรวมของทุนนิยม ผลที่เกิดขึ้นคือ ทุกคนพยายามหาความเป็นเลิศ สร้างความพึงพอใจ และสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น แต่กลับกลายเป็นการสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากขึ้น (อ่านเรื่อง จากมายาคติ “มูลค่าเพิ่ม” สู่อุดมคติ “มูลค่าสูง)

แนวทางหนึ่งคือการใช้เศรษฐกิจพึ่งพาตนเอง เป็นทางออกของการอยู่รอดเพื่อให้หลุดออกจากกระแสของทุนนิยมและการสร้างมูลค่าที่ไม่ก่อให้เกิดความมั่งคั่งที่แท้จริงในระบบเศรษฐกิจ โดยในทางปฎิบัติแล้ว สามารถถ่ายทอดสู่คำว่า ธุรกิจพอเพียง เป็นแนวคิดในการจัดสรรทรัพยากรของหน่วยธุรกิจที่จำเป็นต้องมี เพื่อยืนหยัดในกระแสแห่งทุนนิยม และต่อสู้กับทุนใหญ่ ในคำว่าธุรกิจพอเพียงในที่นี้ ไม่ได้มีความหมายเดียวกับเศรษฐกิจพอเพียง ที่ใช้หลัด พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยมีเงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้นต้องอาศัยทั้งความรู้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ

  • เงื่อนไขความรู้: ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
  • เงื่อนไขคุณธรรม: ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

แต่ในความหมายของธุรกิจพอเพียงนั้น เป็นการมองในมุมองที่แตกต่างออกไป คือ การมีทรัพยากรขั้นต่ำที่จะอยู่รอดได้โดยไม่พึงพาใคร ซึ่งทรัพยากการนั้น แบ่งออกได้เป็น 3 ประการคือ

  • ทรัพย์สิน เอาไว้สำหรับใช้ในการผลิต หรือเป็นวัตถุดิบที่จำเป็นในการผลิตที่ธุรกิจหนึ่งๆ ซึ่งจะต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของทรัพย์สินนั้น ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์หลัก (Core Asset) และทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินเสริมในการทำธุรกิจ ทรัพย์สินหลัก จะต้องให้ได้มาซึ่งความเป็นเจ้าของทันทีที่ทำธุรกิจ ส่วนทรัพย์สินเสริม ให้ได้มาซึ่งความความเป็นเจ้าของหลังดำเนินการธุรกิจได้ แต่ต้องมีการดำเนินการให้ได้มาในภายหลัง
  • ความรู้และทักษะ การดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการจะต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในสิ่งที่ตนเองทำ ละมีทักษะอันเป็นเลิศที่สามารถผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อทั้ง 2 อย่างมารวมตัวกัน จะเกิดประสิทธิผล ผลิตผลที่ีมีมูลค่าสูง เพราะการใช้มูลค่าเพิ่ม จะก่อให้เกิดการลอกเลียนแบบได้ง่าย แต่การสร้างมูลค่าสูง จะก่อให้เกิดการพัฒนาทางความรู้และทางเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง
  • เครือข่าย ในการสร้างธุรกิจใดๆ ก็แล้วแต่ ต้องมีเครือข่ายเพื่อแบ่งปันทรัพยากร สร้างความเข้มแข็ง และสร้างช่องทางการค้า อันเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของธุรกิจทั้งมีขนาดเล็กและขนาดใหญ่

ดังนั้น ธูรกิจพอเพียง จึงเป็นการดำเนินธุรกิจที่มีสินทรัพย์พอเพียง และสมดุล มีความรู้และทักษะที่พอเพียงในการสร้างคุณค่าที่แท้จริงให้กับระบบเศรษฐกิจ และมีเครือข่ายที่พอเพียงในการช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุนด้านต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ โดยหัวใจหลักคือการจัดสรรทรัพยากรให้สมดุลอย่างพิเพียงในทุกๆ ด้าน ดังนั้น การสร้างธุรกิจพอเพียง จะต้องเรียนรู้การพัฒนาตนเองของผู้ประกอบการ ให้มีความรู้ ข้อมูล และความเข้าใจสถานการณ์ที่ีเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และสามารถนำความรู้นั้นมาบริหารทรัพย์สินและเครือข่ายได้อย่างเหมาะสม

ประเด็นที่สำคัญของแนวคิดธุรกิจพอเพียง คือความสามารถในการอยู่รอด ไม่ใช่แนวคิดการทำกำไรสูงสุด ธุรกิจพอเพียงมุ่งเน้นการสร้างคุณภาพชีวิตและการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องแบบระยะยาว ที่มีความเข้าใจในธรรมชาติของสรรพสิ่งอย่างแท้จริง ไม่เน้นการสร้างธุรกิจฉาบฉวย ที่แสวงหากำไรแล้วจากไป โดยทิ้งภาระทางเศรษฐกิจให้กับสังคม

ดร. นารา กิตติเมธีกุล

ปั้นคนเก่ง#EP39 สร้างทีมงานให้มีความเป็นผู้ประกอบการ

ปัญหาปวดหัวที่สุดของการสร้างทีมงานคือการสร้างความภักดีในองค์กร เป็นที่รู้กันว่า เมื่อพนักงานไม่มีความภักดีต่อองค์กรแล้ว การทำงานก็จะเป็นเหมือนการทำแบบขอไปที ทำงานให้ได้ตามเป้า ไม่สั่งก็ไม่ทำ และที่สำคัญคือ ละเลยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะไม่คิดว่าเป็นสิ่งที่ควรจะเข้าไปยุ่งเดี๋ยวมีงานเพิ่ม ไม่ต้องการมีภาระอีก

ในทางกลับกัน เจ้าของหรือผู้บริหารต่างต้องการพนักงานที่มีการทำงานโดยมีความคิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ สามารถทำงานด้วยการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือ มีการหวงแหน ประหยัด เอาใจใส่ต่อสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในการทำงานมากที่สุด

สิ่งที่เจ้าของอยากได้คิดความเป็นผู้ประกอบการ ความภักดีในองค์กร และการสร้างโอกาสให้กับองค์กร ซึ่งต้องมีกระบวนการใรการสร้างจากทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเจ้าของธุรกิจ และฝ่ายของทีมงาน ซึ่งทั้ง  2 ฝ่ายแบ่งออกเป็นได้ 3 ส่วนคือ ส่วน Mindset ส่วน Behavior และ ส่วน Policy

ในบทความนี้เรามาดูในฝั่งของเจ้าของก่อนว่าเจ้าของเองนั้นควรต้องทำอะไรบ้างก่อนที่เราจะไปกำหนดให้ทีมงานเปลี่ยนแปลง

เริ่มด้วยฝ่ายของเจ้าของธุรกิจก่อน

ส่วนของ Mindset

  • เจ้าของธุรกิจต้องคิดว่า ที่คนเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นเจ้าของ ไม่ใช่มีแต่เจ้าของหรือหุ้นส่วนเท่านั้นที่มีความเป็นเจ้าของ ฟังดูอาจจะงง หมายถึงความใจกว้าง และวางใจให้คนอื่นเข้ามาแสดงความเป็นเจ้าของในธุรกิจของเราเองด้วย
  • เจ้าของต้องไว้วางใจในการตัดสินใจของทีมงาน แม้ว่าจะไม่ถูกใจก็ตาม นั่นหมายถึง เมื่อได้มอบหมายให้ใครตัดสินใจอะไรไปแล้ว ต้องตัดใจและเชื่อใจในการตัดสินใจของเขา
  • เจ้าของต้องเชื่อว่า ทกคนที่พยายามเข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่างหวังดีต่อองค์กรทั้งนั้น ให้พวกเขาได้แสดงความหวังดีให้เต็มที่

ส่วนของพฤติกรรม

  • เจ้าของต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่าง แล้วอธิบายถึงเหตุผลในการกระทำของตัวเอง ไม่ใช้คอยต่อว่าคนอื่นที่ไม่ทำเหมือนตัวเอง
  • เจ้าของต้องคอยสอนว่า การกระทำที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไรและชมเชยเมื่อมีการกระทำที่ถูกต้องเกิดขึ้น
  • เจ้าต้องใส่ใจคนเข้าใจถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในการเป็นอยู่ที่ไม่ก่อให้เกิดความสุข ตั้งแต่สถานที่ ความสะอาด น้ำดื่ม การกินอยู่ รวมไปถึงการแสดงความคิดความเห็นของทีมงาน

ส่วนของนโยบาย

  • เจ้าของก็ต้องคิดนโยบายที่สนับสนุนการสร้างความเป็นผู้ประกอบการให้กับบุคคลที่อยู่ในทีมงานปัจจุบัน
  • เจ้าของต้องอธิบายให้ได้ว่านโยบายต่างๆ นั้น ดีต่อทีมงานและองค์กรอย่างไร
  • นโยบายต่างๆ ที่กำหนดมาต้องช่วยให้องค์กรและพนักงานมีชีวิตที่ดีขึ้น
  • เจ้าของต้องไม่ละเมิดนโยบายของตัวเองเสียเอง เพื่อให้เป็นแบบอย่างในการปฏิบัติ

ทั้งหมดนี้คือในส่วนที่เจ้าของต้องเตรียมเอาไว้ก่อนที่จะไปสร้างความเป็นผู้ประกอบการในทีมงานของตัวเอง เรียกว่า เตรียมที่เตรียมทางเอาไว้ เมื่อลงมีอปฏิบัติจะได้ไม่สะดุดหิน สะดุดตอไม้ของตัวเอง

สำหรับการสร้างความเป็นผู้ประกอบการในทีมงานติดตามใน EP หน้า

ดร.นารา กิตติเมธีกุล

ปั้นคนเก่ง #EP38 การวางบทบาทของผู้นำ

ผู้นำเป็นบุคคลที่สำคัญมากที่สุดคนหนึ่งในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐหรือเอกชน ต่างต้องการผู้นำ หรือคนที่มา ชี้ นำ พา คนในองค์กรให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าตามที่เจ้าของ หรือผู้นำขั้นต่อไปต้องการ สิ่งที่ผู้นำจะได้ตามมาด้วยในการดำเนินการคือ อำนาจ (Authorithy) เป็นอำนาจที่ได้รับมาจากเบื้องบนอีกครั้ง เพื่อให้ใช้สิ่งนี้ขับเคลื่อนองค์กรไปยังจุดที่ต้องการ

สิ่งที่เป็นผลพวงจากการได้อำนาจมาคือบทบาทของผู้ใช้อำนาจ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้น จะมีอยู่ด้วยกัน 3 บาทบาท โดยผู้นำแต่ละคนนั้น จะใช้บทบาทเหล่านี้สลับกันไปตามแต่จังหว่ะและโอกาส หรือบางครั้ง ใช้หลายบทบาทในเวลาเดียวกัน

บทบาทการเป็นนักปกครอง (Dominator) เป็นบทบาทที่ผู้นำต้องควบคุมผู้คนต่างๆ ในอยู่ในกรอบกติกา หรือระเบียบที่วางไว้ ถ้าเป็นระดับเมืองหรือประเทศ เรียกว่าเป็นบทบาทของการบังคับใช้กฎหมาย ให้แต่ละคนอยู่ในกรอบของกฎหมาย นโยบาย และคำสั่งต่างๆ เพื่อความสงบและเป็นระเบียบเรียบร้อย

บทบาทการเป็นนักบริหาร (Administrator) เป็นบทบาทของคนที่ออกนโยบายและขับเคลื่อนองค์กรด้วยเครื่องมือต่างๆ การออกกลยุทธ์และยุทธวิธีเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามเป้าหมาย รวมถึงการสร้างแนวคิดของเครื่องมือ กลไก และระบบการทำงานต่างๆ ให้สามารถเปลี่ยนแปลงองค์กรได้ นอกจากนั้น ยังมีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวก จัดหาและจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ภายในองค์กรอย่างเหมาะสมเพื่อให้นำไปสู่การได้มาซึ่งเป้าหมาย หรือวิสัยทัศน์ขององค์กร

บทบาทการเป็นนักการจัดการ (Manager) เป็นบทบาทของคนที่ต้องไปจัดการทรัพยากรต่างๆ ด้วยความรู้ และทักษะที่มี เพื่อให้ทรัพยากรเหล่านั้นถูกใช้งานตามที่ต้องการ รวมถึงการแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาเฉพาะหน้า และปัญหาเชิงระบบ เพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพ และมีผลลัพธ์ตามที่ได้รับมอบหมายมาให้มากที่สุด 

คำถามที่ผู้นำต้องถามตัวเองว่า ณ เวลานี้ ต้องใช้บทบาทไหนบ้าง?

ในกรณีของการรักษาความสงบ (ที่ไม่ได้เป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหว) ต้องใช้เรื่องของการปกครองเป็นเรื่องหลัก ในอดีตการที่แต่ละอาณาจักรพยายามขยายอำนาจและขอบเขตของตน จึงเน้นการใช้การปกครองเพื่อให้เมืองขึ้นหรืออาณานิคมต่างๆ อยู่ในความสงบตามที่ตนต้องการ

ในกรณีที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนเปลง ไม่ว่าจะเร็วหรือช้า ต้องเน้นเรื่องการบริหาร การกำหนดวิสัยทัศน์ที่มีความชัดเจน วัดผลได้ จับต้องได้ และทุกคนในองค์กรเข้าใจได้เป็นภาพเดียวกัน ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือ กลไก และกลยุทธ์อย่างแยบยล ครบถ้วน รอบด้าน รวมทั้งมีการวางแนวทางการป้องกันคึวามเสี่ยงด้านต่างๆ เอาไว้อย่างครบถ้วน

ในกรณีที่ต้องมีการปฏิบัติในวิธีการใหม่ๆ หรือรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ต้องการผู้นำที่เป็นนักจัดการ เนื่องจากการใช้ทรัพยากรต่างๆ มีอย่างจำกัด ต้องเป้นแก้ปัญหาแต่ละเรื่องอย่างรวดเร็วและถูกต้อง รวมถึงป้องกันผลกระทบทางลับที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตที่จะตามมา

คนที่เก่ง ต้องรู้ว่าตัวเองต้องเล่นบทบาทไหนในเวลาใด รู้ภาพการขับเคลื่อนองค์กรในภาพใหญ่ และเห็นรายละเอียดในหารทำงานอยู่ตลอดเวลา และสลับบทบาทของตัวเองได้อย่างแยบยลให้เกิดการยอมรับในวงกว้าง จากที่เล่ามาฟังดูยาก แต่ทำได้ ด้วยเครื่องมือที่สำคัญคือ สติแห่งการรับรู้

ดร.นารา กิตติเมธีกุล

Our Podcasts and VDOs เรื่องราวดี ที่เราอยากเล่าให้ท่านฟัง

เมื่อผู้บริหารต้องเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอน มี 3 ขั้นตอนที่ต้องปรับตัวเพื่อไปสู่เป้าหมาย หรือ Adaptive Leadership

การจะแก้ปัญหาเชิงระบบ ต้องเรียนรู้ในการวิเคราะห์รากของปัญหาหรือสาเหตุที่แท้จริงของปัญห่ที่เกิดขึ้น เทคนอดง่ายๆ แต่ใช้ได้ผลคืออะไร ติดตามได้ใน คลิปนี้

ทักษะการแก้ปัญหา คือทักษะที่ผู้บริหาร ผู้จัดการ และหัวหน้างานทุกคนต้องมี เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างราบลื่น และสามารถชนะใจทีมงานได้ และปัญหาเฉพาะหน้าเป็นปัญหาที่มีความท้าทาย เพราะต้องการการจัดการที่รวดเร็ว และไม่แน่นอน ผู้บริหารควรจะทำอย่างไร ใน Podcast นี้มีคำตอบ

หลายคนมุ่งเน้นการทำงานให้ได้ประสิทธิภาพแต่กลับไม่ได้ประสิทธิผล ผลงานไม่เกิด และเริ่มเหนื่อยกับการวางแผน เราทำอย่างไร ในคลิป มีคำตอบ Facebook Page: drnarakittimetheekul

การแก้ปัญหาที่เป็ฯเหตุการณ์ปัจจุบัน กับอนาคต มีวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน ผู้บริหารที่เก่ง ต้องเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาทั้ง 2 รูปแบบนี้ Facebook Page: drnarakittimetheekul

ผู้บริหารที่วิเคราะห์สาเหตุของปัญหาได้ลึกซึ้งและแม่นยำ จะช่วยให้การจัดสินใจมีประสิทธิภาพและสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การฝึกฝนทักษะการแก้ปัญหาด้วยการวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหา เป็นทักษะหนึ่งที่จำเป็นของผู้บริหาร Facebook Page: drnarakittimetheekul