เงินออม พระเอกตัวจริง ของระบบเศรษฐกิจ

คำว่าเศรษฐกิจตกต่ำ หมายความว่า การเจริญเติบโตของรายได้ประชาชาติ ไม่เติบโต หรือ หดตัว ซึ่งเกิดจากการที่หน่วยธุรกิจ หรือบุคคล ไม่สามารถสร้างรายได้เพิ่มได้ขึ้นได้ หรือมีรายได้หดตัวพร้อม ๆ กัน จำนวนมาก ซึ่งมักจะเกิดขึ้นทุก ๆ 7-15 ปี ต่อครั้ง

เรียกว่าเป็นวัฏจักรทางเศรษฐกิจ ซึ่ง โดยปกติแล้ว เศรษฐกิจจะมีช่วงขยายตัว หรือ Boom และช่วงหดตัว หรือ Recession หน้าที่ของผู้บริหารเศรษฐกิจของประเทศ มีหน้าที่ทำให้จุดสูงสุดของ Boom และ ตำสุดของ Recession มีระยะห่างให้น้อยที่สุด

พฤติกรรมของภาคเอกชนโดยทั่วไปมักจะเป็นพฤติกรรมที่เร่งให้เศรษฐกิจเติบโต คือ เมื่อเศรษฐกิจขยายตัว เอกชนจะเร่งการใช้จ่าย การลงทุน และการกู้ยืม ที่สำคัญ หลาย ๆ คนจะมีการออมในรูปเงินสดน้อยลง เป็นการเร่งการหมุนของเศรษฐกิจมากขึ้น จนกลายเป็นสภาวะฟองสบู่ เพราะทุกคนคาดว่าอนาคตจะดี จึงไปพึ่งพารายได้ในอนาคตมากเกินไป

ในทางกลับกัน เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ เอกชน จะยุติกิจกรรมต่าง ๆ เก็บเงินสดให้มากที่สุด เพื่อรอเวลาเศรษฐกิจฟื้น ทำให้ระบบเศรษฐกิจ มีการหมุนเวียนน้อยลง ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่เป็นการบริโภคขั้นฟื้นฐานเท่านั้น

เงินออม จึงเป็นตัวช่วยให้สภาวะการแกว่งตัวของเศรษฐกิจมีความรุนแรงน้อยลง และเป็นหลักประกันความมั่นคงในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้ดังนี้

เมื่อเศรษฐกิจเติบโต เอกชนควรกันเงินออมไว้ส่วนหนึ่ง เงินเหล่านี้จะไม่ถูกนำมาใช้ในระบบเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจไม่เติบโตจนเร็วเกินไป และยังเป็นการสะสมความมั่งคั่งที่ไม่ด้อยค่า

เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ เอกชนจะสามารถนำเงินออมออกมาใช้ เพื่อดำรงชีวิตได้ตามปกติ ในขณะเดียวกัน ยังสามารถเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ที่สามารถสร้างกำไรได้ในอนาคต เช่น ทองคำ ที่ดิน หรือหุ้น ในราคาที่ถูกด้วย

วิธีการเริ่มต้นคือ เมื่อเศรษฐกิจอยู่ในภาวะเติบโต ให้ตั้งนโยบายการออมไว้จากรายได้ หรือกำไรสุทธิในทุก ๆ เดือน อย่างสม่ำเสมอ และเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ ให้ตั้งนโยบายการใช้เงินออมในเรื่องอะไรได้บ้าง ในปริมาณเท่าไหร่ในแต่ละเดือน เพื่อให้อยู่รอดได้ตลอดระยะเวลาของภาวะเศษฐกิจตกต่ำ

เงินออมจึงถือได้ว่าเป็นพระเอกตัวจริงของระบบเศรษฐกิจ ที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพในระยะยาว เรามาส่งเสริมนิสัยการออก เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน ก่อนที่จะสายเกินไป

ดร. นารา กิตติเมธีกุล

SHARE THIS