ธุรกิจพอพียง ไม่ใช่แค่เพียงพอ

ในยุคแห่งความท้าทายทางเศรษฐกิจในกระแสหลักของทุนนิยม ที่สร้างความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ ให้กับทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำความมั่งคั่ง ระหว่างคนรวยและคนจน เกิดช่องว่างของการแสวงหาโอกาสระหว่างนายทุนและแรงงาน การสร้างมูลค่าทางการเงินด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้า ที่ไม่ก่อให้เกิดความคุ้มค่าในการบริโภค จนกลายเป็นเงินเฟ้อ การถ่ายโอนความเสี่ยงให้คนอื่นโดยการ Out Source จนเหลือการผลิตหลักเพียงอย่างเดียวที่กลายเป็นความเสี่ยงโดยไม่รู้ตัว หรือการสร้างเศรษฐกิจจากสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่นการใช้เทคโนโลยีดิจิตัล หรือการใช้การบริการเป็นการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ จนลืมรากเหง้าแห่งการมีชีวิตของมนุษย์

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ กลายเป็นปัญหาที่สะสมมานาน จนกลายเป็นปัญหาของระบบโลก ที่เกิดขึ้นใน 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ ประเด็นที่ 1 ความสามารถในการใช้ทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกันของประชากรโลก ทำให้ผู้ที่ถือเอาทรัพยากรจำนวนมาก เป็นผู้ที่ได้เปรียบในการสร้างความมั่งคั่งยิ่งๆ ขึ้น และผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร จึงกลายเป็นผู้ต้องทำตามกติกาของผู้ถือครองทรัพยากร และถูกเอาเปรียบมากขึ้นเรื่อยๆ ประการที่ 2 การสร้างเศรษฐกิจด้วยโลกที่ไม่มีตัวตน หรือ สินทรัพย์คงตัว หมายถึง การสร้างรายได้ด้วยสิ่งที่ไม่ใช้สิ่งพื้นฐานของการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ สลายตัวไปเมื่อสิ้นสุดการผลิตและบริโภค เช่น การบริการ จะสิ้นสุดสภาพทรัพย์สินทันทีเมื่อบริการเสร็จ หรือ ระบบดิจิตัล จะหายไปเมื่อหยุดการทำงานของเครื่องมือ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นภาพรวมของทุนนิยม ผลที่เกิดขึ้นคือ ทุกคนพยายามหาความเป็นเลิศ สร้างความพึงพอใจ และสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น แต่กลับกลายเป็นการสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากขึ้น (อ่านเรื่อง จากมายาคติ “มูลค่าเพิ่ม” สู่อุดมคติ “มูลค่าสูง)

แนวทางหนึ่งคือการใช้เศรษฐกิจพึ่งพาตนเอง เป็นทางออกของการอยู่รอดเพื่อให้หลุดออกจากกระแสของทุนนิยมและการสร้างมูลค่าที่ไม่ก่อให้เกิดความมั่งคั่งที่แท้จริงในระบบเศรษฐกิจ โดยในทางปฎิบัติแล้ว สามารถถ่ายทอดสู่คำว่า ธุรกิจพอเพียง เป็นแนวคิดในการจัดสรรทรัพยากรของหน่วยธุรกิจที่จำเป็นต้องมี เพื่อยืนหยัดในกระแสแห่งทุนนิยม และต่อสู้กับทุนใหญ่ ในคำว่าธุรกิจพอเพียงในที่นี้ ไม่ได้มีความหมายเดียวกับเศรษฐกิจพอเพียง ที่ใช้หลัด พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยมีเงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้นต้องอาศัยทั้งความรู้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ

  • เงื่อนไขความรู้: ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
  • เงื่อนไขคุณธรรม: ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

แต่ในความหมายของธุรกิจพอเพียงนั้น เป็นการมองในมุมองที่แตกต่างออกไป คือ การมีทรัพยากรขั้นต่ำที่จะอยู่รอดได้โดยไม่พึงพาใคร ซึ่งทรัพยากการนั้น แบ่งออกได้เป็น 3 ประการคือ

  • ทรัพย์สิน เอาไว้สำหรับใช้ในการผลิต หรือเป็นวัตถุดิบที่จำเป็นในการผลิตที่ธุรกิจหนึ่งๆ ซึ่งจะต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของทรัพย์สินนั้น ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์หลัก (Core Asset) และทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินเสริมในการทำธุรกิจ ทรัพย์สินหลัก จะต้องให้ได้มาซึ่งความเป็นเจ้าของทันทีที่ทำธุรกิจ ส่วนทรัพย์สินเสริม ให้ได้มาซึ่งความความเป็นเจ้าของหลังดำเนินการธุรกิจได้ แต่ต้องมีการดำเนินการให้ได้มาในภายหลัง
  • ความรู้และทักษะ การดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการจะต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในสิ่งที่ตนเองทำ ละมีทักษะอันเป็นเลิศที่สามารถผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อทั้ง 2 อย่างมารวมตัวกัน จะเกิดประสิทธิผล ผลิตผลที่ีมีมูลค่าสูง เพราะการใช้มูลค่าเพิ่ม จะก่อให้เกิดการลอกเลียนแบบได้ง่าย แต่การสร้างมูลค่าสูง จะก่อให้เกิดการพัฒนาทางความรู้และทางเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง
  • เครือข่าย ในการสร้างธุรกิจใดๆ ก็แล้วแต่ ต้องมีเครือข่ายเพื่อแบ่งปันทรัพยากร สร้างความเข้มแข็ง และสร้างช่องทางการค้า อันเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของธุรกิจทั้งมีขนาดเล็กและขนาดใหญ่

ดังนั้น ธูรกิจพอเพียง จึงเป็นการดำเนินธุรกิจที่มีสินทรัพย์พอเพียง และสมดุล มีความรู้และทักษะที่พอเพียงในการสร้างคุณค่าที่แท้จริงให้กับระบบเศรษฐกิจ และมีเครือข่ายที่พอเพียงในการช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุนด้านต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ โดยหัวใจหลักคือการจัดสรรทรัพยากรให้สมดุลอย่างพิเพียงในทุกๆ ด้าน ดังนั้น การสร้างธุรกิจพอเพียง จะต้องเรียนรู้การพัฒนาตนเองของผู้ประกอบการ ให้มีความรู้ ข้อมูล และความเข้าใจสถานการณ์ที่ีเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และสามารถนำความรู้นั้นมาบริหารทรัพย์สินและเครือข่ายได้อย่างเหมาะสม

ประเด็นที่สำคัญของแนวคิดธุรกิจพอเพียง คือความสามารถในการอยู่รอด ไม่ใช่แนวคิดการทำกำไรสูงสุด ธุรกิจพอเพียงมุ่งเน้นการสร้างคุณภาพชีวิตและการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องแบบระยะยาว ที่มีความเข้าใจในธรรมชาติของสรรพสิ่งอย่างแท้จริง ไม่เน้นการสร้างธุรกิจฉาบฉวย ที่แสวงหากำไรแล้วจากไป โดยทิ้งภาระทางเศรษฐกิจให้กับสังคม

ดร. นารา กิตติเมธีกุล

SHARE THIS